ซเฟียร์จิวเวลรี่ ชี้สัญญาณบวกหนุนตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ

31 มี.ค. 2566 – นางอรัญญา โลหะกิจถาวร ผู้จัดการฝ่ายส่งออก บริษัท ซเฟียร์จิวเวลรี่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เปิดเผยว่า จากการผ่อนคลายมาตการต่างๆ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้หลายธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น บริษัทคาดหวังว่าหากจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ก็จะเป็นผลต่อตลาดอัญมณีและเครื่องประดับเช่นกัน

สำหรับในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีสาขาเพื่อจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับของตัวเองอยู่ที่หัวหิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากเปิดประเทศมากขึ้นก็ทำให้ยอดขายของสาขาที่หัวหิน เริ่มกลับมาขายดีเช่นเดียวกัน ส่วนมากจะเป็นกลุ่มลูกค้ารัสเซีย ยุโรปตอนเหนือ และนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว

ทั้งนี้ จากจุดเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 40 ปี บริษัทมีความเชี่ยาชาญด้านงานฝีมือ โดยเฉพาะงานผ่าหวาย ที่มองว่าเป็นงานที่ประณีตและช่างไทยมีความชำนาญทางด้านนี้เป็นอย่างมาก บริษัทมีสินค้าที่หลากหลาย ทั้งรูปแบบดั้งเดิมและออกแบบเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วยดีไซน์ที่โมเดิร์นมากยิ่งขึ้น ระดับราคาจะไม่แพง เป็นราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ ตั้งแต่หลักพันจนถึงระดับหลักแสนบาท

นางอรัญญา กล่าวเพิ่มเติมถึง แนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 นี้ เนื่องจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะทางแถบอเมริกาและยุโปร ทำให้บริษัทมีแนวทางที่จะเน้นจับกลุ่มประเทศเอเชียเพิ่มมากขึ้น ด้วยการออกงานแสดงสินค้าไปยังประเทศต่างๆ รวมถึง “Jewellery & Gem ASEAN Bangkok” (JGAB) ระหว่างวันที่ 26 – 29 เมษายน 2566 ณ Hall 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็มองว่าจะเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่จะช่วยขยายตลาดและสามารถแนะนำสินค้าใหม่ให้กับลูกค้าได้อีกด้วย

“ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อทางฝั่งยุโรปค่อนข้างชะลอตัวและหายไปค่อนข้างมาก ส่วนทางฝั่งอเมริกาก็มีปัญหาไม่แตกต่างกัน ยอดการสั่งซื้อหายไป และมีเหลือแค่ 1 รายเท่านั้นที่ยังมีการสั่งซื้ออยู่ ในขณะที่ตลาดเอเชียกลับเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เห็นได้ชัดเจนมากจากงานแฟร์ต่างๆ”

ด้านพฤติกรรมลูกค้ามีการปรับเปลี่ยนไปตามยุค หลังจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเห็นได้ว่าแทบทุกธุรกิจต้องพึ่งพาช่องทางออนไลน์ โดยตลาดอัญมณีและเครื่องประดับก็ไม่แตกต่างกัน อย่างลูกค้าของบริษัทเองก็มีช่องทางขายสินค้าผ่านออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงและจำหน่ายให้กับลูกค้าจากต่างประเทศได้อีกช่องทาง เช่น ฟิลิปปินส์ ที่นิยมซื้อเครื่องประดับผ่านออนไลน์จากคู่ค้าของบริษัท หรือแม้กระทั่งคู่ค้าที่มาร่วมงานแฟร์ก็จะมีการซื้อขายผ่านออนไลน์แบบเรียลไทม์ มีออเดอร์ระหว่างการเยี่ยมชมบูธต่างๆ เหล่านี้เป็นพฤติกรรมลูกค้าที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

ขณะเดียวกันแม้ว่าตลาดหลักของบริษัทจะเป็นต่างประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% แต่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน การส่งออกไปต่างประเทศค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากมารตรการควบคุมต่างๆ ระหว่างประเทศ ทำให้บริษัทได้สร้างแบรนด์ขึ้นมาในชื่อ วันเดอร์ฟูล เชน (Wonderful Chain) เพื่อขายปลีก จับคนรุ่นใหม่ ผลตอบรับที่ผ่านมาก็ดีระดับหนึ่ง แต่นับว่าเป็นการช่วยในเรื่องเก็บข้อมูลลูกค้าในประเทศ สร้างแบรนด์และบริษัทให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

นางอรัญญา กล่าวต่อีกว่า ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของบริษัท มักจะดูราคาทองเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาทองมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้บริษัทต้องมีการปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับราคาทอง ขณะที่พลอยก็มีการปรับขึ้น 50% ทำให้ต้องปรับราคาสินค้าบางตัวเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่าในปี 2566 นี้ การส่งออกน่าจะสามารถทำได้มากขึ้น รวมถึงการออกงานแฟร์อย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น ก็จะทำให้บริษัทมีรายได้แตะที่ 100 ล้านบาท จากปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 150 ล้านบาทในอีกสองปีข้างหน้า เพราะมองว่าเศรฐกิจโลกน่าจะเริ่มดีขึ้น และสินค้าฟุ่มเฟือย ที่ได้รับอานิสงส์เติบโตทีหลัง

เพิ่มเพื่อน