“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. 2566 ยังแจ่ม ท่องเที่ยวสุดแกร่ง ต่างชาติเข้าไทย 2.11 ล้านคน โตกระฉูด1,283.3% ส่งออกอ่วมพิษเศรษฐกิจโลกชะลอหนัก ติดลบ 4.7% ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 สูงสุดในรอบ 36 เดือน หลังประชาชนใจชื้นเศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อทุเลา
31 มี.ค. 2566 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนก.พ. 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 10.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน9.8% ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9.1% สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.6 จากระดับ 51.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และสูงสุดในรอบ 36 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -1.5%
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน-10.0% การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -4.3% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13.7%
ทั้งนี้ ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -4.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้สินค้าส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 95%, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 61.6% และน้ำตาลทราย ขยายตัว21.4% รวมทั้งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 81.7%, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 15.7% และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ขยายตัว3.6% และจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ ตลาดฮ่องกง ขยายตัว 28.6%, ตะวันออกกลาง ขยายตัว 23.8% และอินเดีย ที่ขยายตัว3.9%
นายพรชัย กล่าวอีกว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน8.8% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -2.7% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 96.2 ซึ่งสูงสุดในรอบ 47 เดือน จากระดับ 93.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการขยายตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ดี ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือน ก.พ. 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.11 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1,283.3% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย จำนวน 20.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 31.8% ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 3.79% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.93% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2566 อยู่ที่ 61.3% ต่อจีดีพี และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 0.57% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 217.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า
เศรษฐกิจไทย ทำไมยังไม่ไปไหนเสียที
ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน
ไทยพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% เริ่ม 1 พ.ย.
ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยปี 67 โต 2.4%
ธนาคารโลก (World Bank) คงคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.4% เร่งตัวขึ้นจาก 1.9% ในปี 66