บอร์ด รฟท. ตีกลับ PPP เดินรถสินค้าหนองคาย-แหลมฉบัง

บอร์ด รฟท. สั่งทบทวนโครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนเดินรถขนส่งสินค้า เส้นทาง “หนองคาย-แหลมฉบัง” ระยะทาง 600 กม. มูลค่า 2.59 หมื่นล้าน เร่งชงบอร์ดเคาะอีกครั้ง เม.ย.นี้ คาดเสนอ ครม.ไฟเขียวโครงการฯ ปี 68 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปี 71

28 มี.ค. 2566 – นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมบอร์ดฯ ได้สั่งการให้ รฟท. กลับไปทบทวนรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า เส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุน 25,925 ล้านบาท โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

ทั้งนี้ บอร์ด รฟท. มอบหมายให้ รฟท.โดยบริษัทที่ปรึกษาฯ ไปดำเนินการพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับลงทุนระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับรถไฟ (Electrification) ซึ่งจะต้องติดตั้งเหนือหัวรถจักร เปรียบเทียบกับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้คุ้มค่าสูงสุด โดยให้นำกลับมาเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป หรือในเดือน เม.ย. 2566

อย่างไรก็ตามในส่วนของกรอบระยะเวลาของการดำเนินโครงการนั้น คาดว่า จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติรูปแบบการลงทุนในปี 2567 ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชน และเสนอ ครม. อนุมัติโครงการฯ ในปี 2568 จากนั้นจะดำเนินการออกแบบและติดตั้งระบบ Electrification และจัดหาขบวนรถ โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า การลงทุนโครงการฯ จะเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost แบ่งเป็น 1.การลงทุนระบบ Electrification ดำเนินการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ โดยเอกชน, รฟท. ชดเชยค่าติดตั้งระบบ Electrification จากเงินผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนในการใช้ระบบ Electrification มูลค่าการลงทุนประมาณ 20,890 ล้านบาท

2.การลงทุนขบวนรถสินค้า และให้บริการเดินรถ ลงทุนโดยเอกชน การลงทุนระยะแรก 5,035 ล้านบาท ประกอบด้วย รถจักร 14 คัน, รถบรรทุกสินค้า 420 คัน, โรงซ่อมบำรุง และระบบจัดการขนส่งสินค้า และ 3.การลงทุนเพิ่มโดยเอกชน ในระยะดำเนินการให้บริการประมาณ 14,990 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนจัดซื้อรถจักร และรถบรรทุกสินค้าให้เพียงพอกับปริมาณสินค้า ตลอดระยะเวลาร่วมทุน 50 ปี โดยคาดการณ์ว่า จะใช้รถจักรอีก 48 คัน และรถบรรทุกสินค้า 1,620 คัน

สำหรับการเดินรถขนส่งสินค้าในเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบังนั้น มีจุดเริ่มต้นจากหนองคาย เดินขบวนรถไปยังเส้นทางแก่งคอย-คลองสิบเก้า และเข้าสู่แหลมฉบัง ระยะทางรวมประมาณ 600 กม. ซึ่งการดำเนินการโครงการนี้ เนื่องจากในปัจจุบันยังมีความจุทาง (Slot) คงเหลืออยู่ นอกเหนือจากการให้บริการของ รฟท. ที่ใช้เดินรถได้ตามปกติ ประกอบกับมีปริมาณสินค้าที่เพียงพอต่อการขนส่ง อีกทั้งรองรับแผนการเดินรถเพิ่มของ รฟท. และเอกชนควบคู่กันไป รวมถึงรองรับการขนส่งสินค้าเพิ่มเติมในเส้นทางไทย-สปป.ลาว-จีนด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอร์ด รฟท. เคาะจัดซื้อรถโดยสาร 182 คัน ปักหมุดใช้ล็อตแรกพ.ค.71

บอร์ด รฟท. เคาะจัดซื้อรถโดยสาร 182 ตู้ 14 ขบวน 1.05 หมื่นล้าน อัพเกรดชั้น 3 ติดแอร์ขบวนแรกในไทย หวังนำมาวิ่งทดแทนรถเก่าใช้งานมากว่า 50 ปี วิ่งให้บริการ 5 เส้นทาง ชี้เป็นรถชั้น 3 แอร์ชุดแรก เล็ง เสนอ ครม. ขอกู้เงิน มี.ค.ปีหน้า ปักธงรับมอบขบวนรถล็อต 2 ขบวน พ.ค.71  

'เซ็นทรัล ลาดพร้าว' จ่าย 1.3 พันล้านให้การรถไฟฯ เผยเหลือสัญญา 5 ปี

‘เซ็นทรัล ลาดพร้าว’จ่ายค่าเช่าที่ดินการรถไฟฯ บริเวณที่ดินสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ปี 2567 กว่า 1,387 ล้านบาท ประจำปี 2567 เผยสัญญาเหลืออายุ 5 ปี หมดปี 2571

บอร์ด รฟท. เร่งเครื่องไฮสปีด ไทย-จีน เฟส 1 วงเงิน 1.03 หมื่นล้าน

บอร์ด รฟท. ไฟเขียวจ้าง “บุญชัยพาณิชย์(1979)” เดินเครื่องรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 สัญญา 4-5 “บ้านโพ-พระแก้ว” วงเงิน1.03 หมื่นล้าน ลุยส่งร่างสัญญาให้อัยการฯ เช็กอีกรอบก่อนลงนามเอกชน ด้านรถไฟไฮสปีดสามสนามบิน คาดออก NTP ก่อสร้าง มิ.ย.นี้