22 มี.ค. 2566 -การตอบสนองความต้องการลูกค้าหรือผู้บริโภคโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ นับว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลายธุรกิจขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้คนในยุคนี้ต้องการความสะดวกสบาย บริหารจัดการทุกอย่างแบบง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส โดยเฉพาะ “โมบายแบงกิ้ง” ที่ต้องยอมรับว่ามีการใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าร้านค้าขนาดใหญ่หรือเล็กก็ต้องมีบริการที่รองรับการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้คนมีการใช้เงินสดกันน้อยลง แต่เลือกที่จะชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร
สำหรับ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ก็เติบโตเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่ายอดการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพียงแค่ 6 เดือนหลังประกาศแผนผสานความเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์” เข้ามาในองค์กร เพื่อเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารได้ โดยการทำให้บริการธนาคารเรียบง่ายขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ ก็มีผู้สมัครใช้งานแอป K PLUS เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
ลูกค้าใหม่ K PLUS พุ่งกว่า 1 ล้านคน
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมามีคนจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนสมัครใช้งานแอป K PLUS ของเรา โดยในจำนวนนี้มีมากกว่า 1 ล้านคนเป็นผู้ที่เพิ่งใช้บริการธนาคารกสิกรไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งความนิยมแพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทยที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มภาคภูมิ โดยปัจจุบันธุรกรรมของธนาคารกสิกรไทยเป็นธุรกรรมที่ทำผ่านระบบออนไลน์ถึง 98% อีกด้วย
โดยผลจากการเติบโตของธุรกรรมออนไลน์ดังกล่าว ทำให้ธนาคารกสิกรไทยสร้างสถิติใหม่ เป็นครั้งแรกที่ยอดเงินโอนผ่านแอป K PLUS มากกว่ายอดเงินโอนผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งหมดของธนาคารรวมกัน ทั้งการทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร เครื่องทำรายการอิเล็กทรอนิกส์ และตัวแทนธนาคาร ด้วยเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย ทำให้คนจำนวนมากขึ้นได้รับประโยชน์จากบริการธนาคาร ในแต่ละชั่วโมงมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 1 ล้านรายการต่อชั่วโมง แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ยอดเงินที่เป็นการทำธุรกรรมผ่านแอป K PLUS เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมียอดเงินสูงเกือบ 10 ล้านล้านบาทในปี 2565 การเติบโตดังกล่าวยังช่วยตอกย้ำ “ความเป็นผู้นำของธนาคารกสิกรไทยในฐานะธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งของไทย”
“จะเห็นได้ว่า จากความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ตามไปด้วย ที่จะต้องก้าวล้ำไปข้างหน้ากับเทคโนโลยีต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการธนาคารได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยระบบที่มีเสถียรภาพสูง นั่นเพราะวิสัยทัศน์ของธนาคารกสิกรไทยมองไปไกลเกินกว่าขอบเขตประเทศไทย โดยเป้าหมายคือการก้าวเป็นผู้นำการให้บริการธนาคารดิจิทัลระดับภูมิภาค”
ยอดปล่อยสินเชื่อ LINE BK พุ่ง
ธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า ในช่วงปี 2565 ได้มีการจับมือกับ LINE เพื่อให้บริการธนาคารผ่านทางโซเชียลมีเดีย มีการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 1.4 ล้านราย และ ณ สิ้นปี 2565 มียอดสินเชื่อปล่อยกู้ผ่าน LINE BK กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนมากเป็นการให้กู้ยืมแก่ลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีเงินเดือนประจำ เช่น คนทำงานอิสระและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยอื่นๆ
“เนื่องจากคนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้มักจะไม่มีรายได้ประจำ หรือไม่มีสลิปเงินเดือน จึงทำให้พวกเขามีความยากลำบากในการได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคาร เพื่อที่จะเอามาช่วยเหลือตัวเองในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่มาเป็นครั้งเป็นคราว และบ่อยครั้งก็ทำให้เขาต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบ” นางสาวขัตติยากล่าว
ทั้งนี้ LINE BK ในฐานะผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการธนาคารผ่านโซเชียลมีเดียเพียงรายเดียวของไทย มีบทบาทสำคัญในการทำให้เป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยในการผสานความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์เข้ามาในองค์กรประสบความสำเร็จ เนื่องจาก LINE BK ช่วยให้คนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคารหรือเข้าถึงได้ยากสามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้ แม้จะเป็นผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารก็สามารถสมัครขอสินเชื่อผ่าน LINE BK ได้ โดยจะทราบผลการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อภายใน 24 ชั่วโมง บริการนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ให้บริการอิสระ และเจ้าของแผงค้าขายขนาดเล็ก อีกทั้งยังเป็นก้าวแรกที่นำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบธนาคาร ทำให้มีประวัติเครดิต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยับขยายกิจการในอนาคตของพวกเขาได้ด้วย
โดยเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์ที่เรียกว่าการผสานความเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์” เข้ามาในองค์กร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะขยายการเข้าถึงเงินกู้และบริการต่างๆ ของธนาคารให้กับคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคารหรือเข้าถึงได้ยาก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน นับเป็นปรากฏการณ์ดิสรัปชันของวงการธนาคารที่มาท้าทายธนาคารหลักต่างๆ ในหลายประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อมและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่มีรายได้ประจำ เวลาที่คนกลุ่มนี้ยื่นขอสินเชื่อ จะมีโอกาสได้รับการประเมินขีดความสามารถและประเมินความตั้งใจในการชำระคืนเงินกู้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ของธนาคารกสิกรไทยจะเป็นการหลอมรวมดีเอ็นเอของความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์เข้าไปในแก่นของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ในฐานะธนาคารในยุคปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับเชื่อถือในความสามารถในการตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม โดยภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้จัดสรรงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีในช่วงปี 2565-2567.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท