‘คมนาคม’ จ่อชง ครม. ไฟเขียวสร้างทางด่วนช่วง ‘จตุโชติ-ลำลูกกา’ 3.3 หมื่นล้าน

‘คมนาคม’ ลุยชง ครม. ไฟเขียวสร้างทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วง ‘จตุโชติ-ลำลูกกา’ระยะทาง 19 กม. มูลค่า 3.3 หมื่นล้าน คาดประกวดราคาภายในปีนี้ เริ่มสร้างปี 67 แล้วเสร็จปี 70 ค่าผ่านทาง 25-130 บาท

14 มี.ค.2566 - แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 มี.ค. 2566) ซึ่งคาดว่า จะเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการยุบสภานั้น กระทรวงคมนาคม ได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร (กม.) ประเมินมูลค่าโครงการประมาณ 33,400 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 26,100 ล้านบาท ค่าเวนคืนประมาณ 7,300 ล้านบาท

สำหรับโครงการดังกล่าว ในขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างกระบวนการศึกษาทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงาน EIA ควบคู่ไปด้วย โดยขั้นตอนนี้ มีระยะเวลา 12 เดือน หรือตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 และคาดว่า จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 พ.ค. 2566 โดยภายหลังที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการในวันนี้นั้น จะเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาก่อสร้าง ซึ่งจะดำเนินการภายในปี 2566 ขณะที่การดำเนินการด้านจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น คาดว่า จะเริ่มในปี 2567 ใช้ระยะเวลา 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2568 อย่างไรก็ตาม จะเริ่มก่อสร้างโครงการฯ ในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570

ด้านรายงานข่าวจาก กทพ. ระบุว่า โครงการดังกล่าว กทพ.จะบริหารจัดการเองทั้งหมด เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องทางพิเศษฉลองรัชของ กทพ. สำหรับค่าผ่านทางคิดตามระยะทาง โดยรถ 4 ล้อ ในอัตรา 25-45 บาท รถ 6-10 ล้อ มีอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 55-85 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ มีอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 80-130 บาท โดยเก็บเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 1.25 บาทต่อ กม.

ทั้งนี้ มีการปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี ตามค่าเฉลี่ยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งอัตราค่าผ่านทางของรถแต่ละประเภทจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดของรถแต่ละประเภท ด้านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบปิด เนื่องจากมีความเหมาะสมต่อรูปแบบของโครงการ โดยระบบหลักที่ใช้ในการเก็บค่าผ่านทางของโครงการ คือ ระบบ M-Flow หรือระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น สามารถรองรับปริมาณรถได้ถึง 2,000-2,500 คันต่อชั่วโมงต่อช่องทาง

สำหรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านจตุโชติ ยกระดับข้ามถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) ไปทางทิศตะวันออก ถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตใหม่ จากนั้นจะลดระดับลงสู่พื้นที่บริการทางพิเศษ (Rest Area) ในระดับดินที่ กม. 11+040 ของโครงการฯ

จากนั้นจะเริ่มยกระดับอีกครั้งผ่านถนนคลองเก้า และเลี้ยวไปทางทิศเหนือเชื่อมต่อถนนลำลูกกาบริเวณใกล้คลองหกวาสายล่าง ปทุมธานี และสิ้นสุดโครงการฯ โดยเชื่อมต่อ MR10 ที่บริเวณแขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และโครงการฯ สามารถเชื่อมต่อโครงการ MR6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) - สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ของ ทล.ได้ในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

DMT พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงคมนาคม ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยการจำหน่ายคูปองผ่านทางในราคาพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ถึง 21 ธ.ค.67

DMT พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงคมนาคม ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยการจำหน่ายคูปองผ่านทางในราคาพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ถึง 21 ธ.ค. 67