คลังเกาะติดวิกฤติ 2 แบงก์ใหญ่สหรัฐล่มการันตีธนาคารไทยยังแกร่ง

“คลัง” เกาะติดวิกฤติ 2 แบงก์ใหญ่สหรัฐฯ ล่ม มองสะเทือนความเชื่อมั่นนักลงทุน ทุบตลาดหุ้นดิ่ง การันตีแบงก์ไทยยังแกร่ง ไร้ปัญหา ยันคุ้มครองเงินฝากทุกบัญชี

13 มี.ค. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลง รวมถึงกรณีที่ธนาคารซิกเนอเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ในนิวยอร์กซึ่งถูกสั่งปิดไปเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงเงินฝากมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ว่า มีการติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยคงต้องรอฟังข้อมูลจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำหน้าที่ในการมอนิเตอร์เรื่องนี้ด้วย โดยที่ผ่านมา ธปท. ยืนยันมาตลอดว่าเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยยังไม่มีปัญหาอะไร ยังได้รับความน่าเชื่อถืออยู่

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ในเบื้องต้น มองว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบกับตลาดหุ้น โดยเฉพาะเรื่องบรรยากาศในการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากกว่า ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ คงต้องรอทาง ธปท. อีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องว่าจะมีผลกระทบอะไรกับสถาบันการเงินของไทยหรือไม่ ส่วนตลาดพันธบัตรตอนนี้ก็เป็นไปตามภาวะตลาด โดยต้องยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับ 2 ธนาคารต้องมีผลกระทบกับความเชื่อมั่น ทำให้นักลงทุนเกิดภาวะตกใจอยู่แล้ว ก็สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่มีการปรับตัวลดลงมาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหากกระทบกับความเชื่อมั่น ก็จะมีผลทำให้ต้นทุนในเรื่องของความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือไปจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของธนาคารในสหรัฐฯ อีกด้วย

“เท่าที่ติดตามดูตอนนี้จะมีกระทบแค่ตลาดหุ้น โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุน จากความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่อยากให้ดูอย่างดาวน์โจนส์ หลังจากที่ทางการมีการประกาศเรื่องความชัดเจนของภาระต่าง ๆ ในประเด็นที่เกิดขึ้น หุ้นก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เคสอย่างนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยวิกฤติฟองสบู่ของเรา แต่ของสหรัฐฯ ในรอบนี้ขนาดใหญ่กว่า จำนวนธนาคารในสหรัฐก็เยอะมาก เรื่องที่เกิดเข้าใจว่าเป็นปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่ทางการเขาจะดำเนินการอย่างนี้ ซึ่งหลักการของเขาก็จะคล้ายกับของเรา คือ ต้องไม่เป็นภาระประชาชน” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า จากข้อมูลในเบื้องต้นทราบว่าสถาบันการเงินหรือกองทุนต่าง ๆ ของไทยไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 ธนาคารนี้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่มีผลกับระบบการเงินของไทย ส่วนเรื่องการคุ้มครองเงินฝากตอนนี้สหรัฐก็ทำตามเหมือนที่ไทยได้ทำเมื่อปี 2540 ซึ่งมีการคุ้มครองในระดับจำนวนหนึ่ง แต่ของไทยนั้นการคุ้มครองเมื่อถึงจุดหนึ่งที่หมดความจำเป็น ก็ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับปัจจุบัน ซึ่งเรื่องการคุ้มครองเงินฝากเราทำมาก่อนแล้ว ส่วนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา โดยจะมีการรายงานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบด้วย

“อย่าไปพูดว่าเราไม่กังวล แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ติดตามอยู่และก็ได้ประสานกับผู้ว่าการ ธปท. อยู่แล้วด้วย ส่วนที่ว่าจะเป็นจะต้องตั้งทีมพิเศษเพื่อติดตามเรื่องนี้หรือไม่นั้น เชื่อมั่นว่า ธปท. ก็เพียงพออยู่แล้ว” นายอาคม กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิกฤติความเชื่อมั่นของเครดิต สวิส... ใครคือโดมิโนตัวต่อไป

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน  ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ออกบทความระบุว่า  ตลาดทุนจับจ้องมาที่ธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) หลังราคาหุ้นร่วงหนัก คนพร้อมแห่ถอนเงิน นักลงทุนในตราสารหนี้ห่วงธนาคารจะผิดนัดชำระหนี้ ค่าประกันความเสี่ยง หรือ Credit Default Swap พุ่งขึ้นสูง เกิดอะไรขึ้น