8 มี.ค. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.), กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ครอบคลุมการให้ความรู้ทางการเงินและความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งประกอบด้วย ความรู้เรื่องการออม เทคนิคออมเงินอย่างถูกวิธี การวางแผนทางการเงิน การป้องกันตนเองจากภัยกลโกงทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝาก ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินของตัวเอง เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ซึ่งถือเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นายทรงผล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สคฝ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญภายใต้กลยุทธ์การเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมการเงิน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันในหลากหลายมิติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานทางการเงิน และตระหนักถึงการวางแผนการออมเงินอย่างถูกวิธีก่อนเข้าสู่วัยทำงาน
ทั้งนี้ ภารกิจหลักของ สคฝ. คือ การคุ้มครองผู้ฝากเงินและชำระบัญชีสถาบันการเงินหากเกิดวิกฤติ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะรวมไปถึงการฝากเงินผ่านธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) โดยหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการออกใบอนุญาต สคฝ. ก็พร้อมจะคุ้มครองการฝากเงินทันที โดยความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าประมาณไตรมาส 3/2566 น่าจะเริ่มเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจ และต้นปี 2567 คาดว่าจะเริ่มมีการออกใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการที่สนใจเตรียมตัว เตรียมความพร้อม โดยประเมินว่า Virtual Bank จะเริ่มเปิดทำการได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นปี 2568
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. กล่าวว่า กองทุนได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ เสริมสร้างความเข้าใจให้ตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินในอนาคต รวมถึงการรู้เท่าทันภัยทางการเงิน ตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงานและวัยเกษียณ ให้มีการจัดสรรเงินที่ดี ซึ่งการออมกับ กอช. เป็นหนึ่งของสวัสดิการบำนาญจากรัฐในกลุ่มอาชีพอิสระ ที่จะทำให้ครอบตัวได้มีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืม ศิษย์เก่าผู้กู้ยืม ครู อาจารย์ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินพื้นฐาน สามารถวางแผนการเงินในระยะยาว รู้วิธีการวางแผนการจัดสรรรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อสร้างโอกาสเพิ่มเติมให้ตัวเอง ตลอดจนสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมให้กองทุนได้ตามกำหนด เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'คลัง' คลอดใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)