“คลัง”คาดเงินเฟ้อปีนี้ทรงตัว 3% ฟุ้งรัฐบาลออกมาตรการดูแลต้นทุนต่อเนื่อง

8 มี.ค. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อแบบเดือนต่อเดือนต่อไป แม้ว่าในเดือน ม.ค.2566 จะเห็นการชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆที่รัฐบาลออกมาช่วยดูแลด้านต้นทุนไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องราคาพลังงานที่ยังคงตรึงราคาอยู่ ก็น่าจะมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง

“ต้องติดตาม คำเดียวเท่านั้นคือต้องติดตามสถานการณ์ แต่ตามประมาณการของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ยังมองไปในทิศทางเดียวกันว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปีก่อนฐานสูง และปีนี้มีมาตรการต่อเนื่อง เช่นการลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนพลังงานของภาคขนส่ง เราก็ยังช่วยเหลืออยู่ และเรื่องค่าไฟก็ยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้มีรายได้น้อย เหล่านี้มีส่วนทำให้ระดับอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าน่าจะชะลอตัวลง” นายอาคม กล่าว

ส่วนเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น คงต้องไปถามทาง ธปท. ซึ่งจะมีการประเมินกันอีกที อย่างไรก็ดี หากเป็นไปตามประมาณการอัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ลดลง จนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% โดยปีนี้เงินเฟ้อเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 3% ซึ่งช่วงนี้นโยบายการเงินการคลังก็ประสานกันเพื่อดูแลเรื่องนี้ ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ส่วนในด้านไมโคร มีการเข้าไปดูแลแต่ละกลุ่ม ดูแลเรื่องต้นทุน เช่นเรื่องค่าพลังงาน ซึ่งในอดีตรัฐบาลเคยช่วยเรื่องราคาพลังงานจากการลดภาษีสรรพสามิตมายาวนาน

อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้โตแบบร้อนแรงมากเกินไป โดยคาดการณ์ว่าปีนี้การบริโภคจะขยายตัวที่ระดับ 3-4% จากปีก่อนอยู่ที่ 5% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่คนพ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และเริ่มกลับมาทำงาน มีเงินใช้จ่ายมากขึ้นกว่าช่วงการระบาด ทำให้ในปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจึงไม่ได้เป็นผลมาจากดีมานต์ไซด์ เพราะเป็นจุดที่คนเพิ่งเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"