เงินเฟ้อ ก.พ.66 เพิ่ม 3.79% ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

เงินเฟ้อ ก.พ.66 เพิ่ม 3.79% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน หลังสินค้ากลุ่มน้ำมัน อาหาร เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง คาดมี.ค. ยังชะลอตัวลงอีก แนวโน้มจะชัดช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะได้เห็นเงินเฟ้อใกล้ 0% หรือติดลบ ส่วนทั้งปียังคงเป้า 2-3% แต่มีแนวโน้มปรับลดลง          

7 มี.ค. 2566 – นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.พ.2566 เท่ากับ 108.05 เทียบกับ ม.ค.2566 ลดลง 0.12% เทียบกับเดือนก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 3.79% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อไม่ขยายตัวมากนัก และเงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 4.40%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือน ก.พ.2566 ที่สูงขึ้น 3.79% มาจากการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 2.47% โดยเดือนม.ค.2566 เพิ่ม 3.18% มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าทัศนาจรในประเทศ สิ่งเกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ สารกำจัดแมลง แต่ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ เช่น แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก สองแถว เครื่องบิน วัสดุก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น ยาสีฟัน กระดาษชำระ ค่าแต่งผมชาย ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย

ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.74% ชะลอตัวจากเดือนม.ค.2566 ที่สูงขึ้น 7.70% โดยมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น คือ อาหารสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า ผักและผลไม้ เช่น มะนาว แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ข้าวสาร ไข่และผลิตภัณฑ์นม ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง เครื่องประกอบอาหาร เช่น ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ ชา กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม และเนื้อสัตว์ เช่น ไก่สด ปลาทู เนื้อสุกร ราคายังคงเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ผักคะน้า ผักชี พริกสด น้ำมันพืช มะพร้าว และมะขามเปียก

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 1.93% เมื่อเทียบกับก.พ.2565 รวม 2 เดือนเพิ่มขึ้น 2.48%       

นายวิชานัน กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมี.ค.2566 คาดว่าจะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมี.ค.2565 ค่อนข้างสูง การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ แต่ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมี.ค.2566 การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก

“เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งตามกราฟขณะนี้ เห็นว่ากำลังเข้าสู่ขาลง น่าจะเห็นชัดในช่วงกลางปีถึงปลายปี โดยเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนต.ค.2566 อาจใกล้กับ 0% หรืออาจจะติดลบก็ได้ ถ้าช่วงนั้น น้ำมันยังลดลง แต่ถ้าน้ำมันขึ้น เงินเฟ้อก็ไม่ลด ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี ขณะนี้ยังคงเป้า 2-3% แต่จะมีการพิจารณาปรับเป้าและสมมติฐานใหม่ หลังได้ตัวเลขไตรมาสแรกแล้ว โดยแนวโน้มน่าจะลดลง หรือกรอบแคบขึ้น หรือปรับค่ากลางลดลง”นายวิชานันกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง