ไทยขาดแคลนบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หนัก ม.ขอนแก่น เปิดหลักสูตรใหม่รองรับ

7 มี.ค. 2566 – นายนิพนธ์ นาชิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในปัจจุบันช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ถูกใช้งานมากที่สุดในโลกคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต จากข้อมูลผลสำรวจ พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) พบว่า 10 อันดับแรกของกิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตอันดับแรกของคนไทย คือ การขอรับคำปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (e- Health) โดยเฉพาะการจองคิวขอรับบริการทางการแพทย์ออนไลน์ มีผู้เลือกตอบมากที่สุด ถึง 86.16% อาจเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน ตรวจหาเชื้อ และปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น หรือเพื่อลดเวลาที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

รองลงมาคือ การติดต่อสื่อสาร (65.70%) ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ดูหนัง/ฟังเพลง (41.51%) ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) (34.10%) ทำธุรกรรมทางการเงิน (e-Payment) (31.29%) อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ (29.51%) รับ-ส่งอีเมล (26.62%) ชอปปิงออนไลน์ (24.55%) ทำงาน/ประชุมออนไลน์ (20.67%) และเล่นเกมออนไลน์ (18.75%) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าอินเทอร์เน็ตถูกใช้ในการสื่อสารในทุกลักษณะ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง ทั้งเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากอินเทอร์เน็ตถูกออกแบบภายใต้แนวคิดการเข้าถึงอย่างเสรี ทำให้เกิดเป็นช่องทางเปิดให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาโจมตีแสวงหาผลประโยชน์และมุ่งเป้าประสงค์ร้ายต่อข้อมูล องค์กรหรือบุคคลอื่น โดยเรียกภัยคุกคามในลักษณะนี้ว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนตั้งแต่ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินทางดิจิทัลของประชาชน ด้วยเหตุนี้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จึงถือเป็นศาสตร์ใหม่ที่เข้ามามีบทบาทต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสวัสดิภาพของประชาชน

รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จึงได้ตราพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมทั้งจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานตามพระราชบัญญัติ และประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง อันจะทำให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้นมาเฉพาะ แต่ปัญหาสำคัญในประเทศคือการขาดแดลนบุคคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อ้างอิงจากผลสำรวจไทยแลนด์ ดิจิทัล เอาต์ลุค 2020 พบว่าประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กว่า 1 แสนอัตรา โดยบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนเป็นบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology – IT) ที่ยังขาดความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้คนไทยมีความสุข สังคมมั่นคง ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ มียุทธศาสตร์ที่ 3 โดยเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มีการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉม(Transformation of Learning) สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการศึกษา (Conceptual Design) ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ การกำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ด้วย Thailand 4.0 จำเป็นต้องมีการพัฒนา New S-Curve ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เกิดการเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี รวมทั้งนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มียุทธศาสตร์ที่ 5 โดยมีความต้องการในการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลโดยเฉพาะบุคลากรในวิชาชีพด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในไซเบอร์ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่นำประเทศไทย ไปสู่ Thailand 4.0 การพัฒนาหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับปริญญาตรีจึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานในประเทศเป็นสำคัญ

สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2563-2566 ที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแผนในการบริหารและพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย มีเป้าหมาย นโยบาย และพันธกิจ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ (Transformation) โดยการจัดทำ KKU Transformation ทั้งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ การบริหารทรัพยากรบุดคล และด้านการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้มหาวิทยาลัยยังคงมีความก้าวหน้า และการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนในท่ามกลางวิกฤติอุดมศึกษาไทยที่เกิดจากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ( Disruptive Technology) และตระหนักถึงอัตราการเกิดที่ลดลงของเด็กไทย โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ/หรือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย รวมถึงการพัฒนากำลังคนทางด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีความต้องการของตลาดแรงงานสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

การพัฒนาหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อรองรับการสร้างกำลังคนให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและ องค์กรต่าง ๆ ให้เป็นหลักสูตรที่จะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางด้าน ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่มีความสอดคล้องกับแนวโน้มการตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตซึ่ง สอดคล้องกับนโยบายหลักในระดับประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อการส่งเสริมและการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางด้านอุตสาหกรรมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในการรองรับการให้บริการทางด้านธุรกิจ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อให้รองรับความต้องการในตลาดแรงงาน และเพื่อสร้างสรรค์การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ในด้านอุตสาหกรรมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและสอดรับกับนโยบายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทยต่อไป

การพัฒนาหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีกรอบองค์ความรู้อย่างเป็นระบบจะทำให้เกิดการสนับสนุนการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ หลักสูตรนี้จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถครอบคลุมทั้งภาทฤษฎีและ การฝึกทักษะในภาคปฏิบัติทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้สามารถประยุกต์องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจริงได้ โดยมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วน การออกแบบเนื้อหาที่เน้นการเรียนรู้ถูกับการปฏิบัติงานการพัฒนาทักษะให้เป็นที่ต้องการตามมาตรฐานใบรับรองวิชาชีพระดับสากล การฝึกปฏิบัติโดยใช้โจทย์จากสถานะการจริงในภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงภาครัฐและภาดอุตสาหกรรม ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านโครงงาน โดรงการวิจัยการฝึกงาน และ การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการ มข.ฟันธงแรงกระเพื่อมยุบก้าวไกลทำให้มีเสียงหนุนเกิน 20 ล้าน

นักวิชาการ มข.ชี้แรงกระเพื่อมยุบพรรคก้าวไกล ส่งผลให้คนไทยทั่วโลกพร้อมหนุนทะลุกว่า 20 ล้านคน ชิมลาง เลือก นายก อบจ.ราชบุรี และเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก

นักวิชาการแนะทางแก้ 'ปลาหมอคางดำ' เชื่อแพร่พันธุ์ภาคอีสานยาก

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน

J&T Express จับมือ อัลฟ่าเซค ลุยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ยกระดับความเชื่อมั่นให้ลูกค้า

นายนิพนธ์ นาชิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลฟ่าเซค จำกัด (AlphaSec) ในฐานะที่ปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้มอบวุฒิบัตรผู้ผ่านการอบรม Data Protection Officer ให้แก่ นางสุธีมนต์ อักเกอร์เวล กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท J&T Express และทีมเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

อัลฟ่าเซค ลุยยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ในระบบสาธารณสุข

อัลฟ่าเซคร่วมเป็นหัวทีมวิทยากรในงานอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะ CISO เพื่อยกระดับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระบบสาธารณสุข