รฟม.เผยรถไฟฟ้าสีส้มส่วนตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี” คืบ 98.8% “รฟม.” ลุยเจรจาผู้รับจ้างส่วนออก-BEM ร่วมรับภาระค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาเดือนละ 41 ล้าน ชี้หากลงนามจบปัญหาทันที ผู้รับสัมปทานรับภาระทั้งหมด
6 มี.ค. 2566 – นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร(กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าประมาณ 98.80% มีงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% จำนวน 4 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที (บมจ.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น-บมจ.ช.การช่าง) เป็นผู้รับจ้าง, สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที เป็นผู้รับจ้าง,
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง และสัญญาที่ 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที เป็นผู้รับจ้าง
ทั้งนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 93.35% และสัญญาที่ 6 งานก่อสร้างระบบราง บมจ.ยูนิคฯ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 92.28% คาดว่าทั้งโครงการฯ จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 66 โดยผู้รับจ้างจะรับประกันผลงานการก่อสร้างประมาณ 2 ปี
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการที่ รฟม. ยังไม่สามารถลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในขณะนี้ได้นั้น ส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมถึงการดูแลรักษา (Care of Work) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินค่าดูแลรักษาต่อเดือน และพยายามเจรจาให้ผู้รับจ้างงานโยธาส่วนตะวันออก ร่วมรับภาระส่วนหนึ่ง และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ต้องดำเนินการงานโยธาในส่วนของตะวันตก และการเดินรถตลอดทั้งเส้นทาง ให้มารับมอบโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกไปดูแลให้เร็วขึ้น
“เวลานี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะโครงการนี้ยังมีคดีฟ้องร้องที่ต้องต่อสู้กันในศาลตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง รฟม. มีความตั้งใจที่จะทำโครงการให้แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ได้ อีกทั้งเข้าใจดีว่าประชาชนรอใช้บริการอยู่ อย่างไรก็ตามขณะนี้คงต้องรอให้มีการลงนามสัญญากับ BEM ก่อน ซึ่งหลังจากนั้นจึงจะสามารถเร่งรัดการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องขบวนรถ เพราะต้องสั่งผลิต ไม่สามารถที่จะสั่งซื้อและนำเข้ามาได้เลย จึงต้องใช้เวลา แต่คงทยอยนำขบวนรถเข้ามาให้บริการ ไม่ได้มาพร้อมกันทั้งหมด”นายภคพงศ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี (ใต้ดินตลอดสาย) โดย รฟม. วางแผนเบื้องต้นจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก เดือน ส.ค.68 และส่วนตะวันตก เปิดบริการเดือน ธ.ค.70 อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ รฟม. เคยประมาณการว่า การดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่แล้วเสร็จไปก่อน ต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 41.26 ล้านบาท แต่หากมีการลงนามสัญญา ทางผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เฮ! ครม. ไฟเขียวต่ออายุ 'รถไฟฟ้า 20 บาท' สายสีแดง-สีม่วง
คนกรุงเฮ! ครม.สัญจร อนุมัติรถไฟฟ้า 20 บาท สายสีแดง-สีม่วง อีก 1 ปี เริ่ม 1 ธ.ค.
20 บาทตลอดสายส่งผล ผู้โดยสารรถไฟฟ้าพุ่ง
รฟม. เผยครบรอบ 1 ปี นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ผลดีเกินคาด ทำยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT และผู้ใช้บริการอาคารจอดแล้วจรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
‘สุริยะ’ สั่ง รฟม. ลงโทษ ’NBM‘ เหตุประตูรถไฟฟ้าเปิดกลางทางขู่ลงดาบแบล็กลิสต์
‘สุริยะ’เอาจริง มอบ รฟม. ส่งหนังสือถึง ‘NBM’ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู จ่อดำเนินการตามบทลงโทษขั้นสูงสุด หลังเกิดเหตุประตูขบวนรถเปิดกลางทาง ลั่นไม่สามารถประนีประนอมหรือต่อรองได้ ย่ำหากไม่ปรับปรุงจ่อลงดาบแบล็กลิสต์
'ดร.สามารถ' แพร่บทความ บทเรียนสูญ 1.3 แสนล้าน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องมีผู้รับผิดชอบ
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม "บทเรียนที่ต้องเรียน" มีเนื้อหาดังนี้
'สุริยะ‘สั่งประเมินความปลอดภัยรถไฟฟ้า’ชมพู-เหลือง‘ทุก 3 เดือน
‘สุริยะ’ สั่ง ’กรมรางฯ-รฟม.’ตรวจสอบสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า ’ชมพู -เหลือง’หลังเกิดเหตุบ่อยครั้ง กระทบการเดินทางประชาชน-ความมั่นใจด้านปลอดภัย จ่อประเมินผลงานทุก 3 เดือน