สัมภาณ์พิเศษ "ภูษิต ศศิธรานนท์" ภารกิจปั้นงานเด็กและเยาวชนระดับภูมิภาค

23 ก.พ. 2566 – ในช่วงที่ผ่านมามีกล่าวถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยมาโดยตลอด ตอนนี้ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าหากขาดกลุ่มเด็กและเยาวชน ก็คงไม่สามารถทำให้ประเทศเหล่านั้นเกิดการพัฒนาขึ้นได้ในอนาคต ทำให้ปลายประเทศที่เคยควบคุมประชาชน ก็กลับมาส่งเสริมให้ประชาชนของประเทศตัวเองได้มีบุตรกันมากขึ้น ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเด็กมีอัตราการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการจับจ่ายของผู้ปกครองในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง ก็เต็มที่กับการใช้เงินให้กับลูกของตัวเอง นับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่แบรนด์สินค้าต่างๆ จะมองข้ามไปไม่ได้

ผลิตภัณฑ์แม่และเด็กยังมาแรง

นายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ในยุคปัจจุบันมีงบประมาณที่ใช้เลี้ยงดูลูกเพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์มูลค่าตลาดอยู่ที่ 40,300 ล้านบาทในปี 2564 และยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19  ถือเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อการเข้าถึงส่วนแบ่งทางการตลาด

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่มีโอกาสครอบครองมูลค่าตลาด คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ที่มีการแข่งขันในเชิงการออกแบบ รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลายเช่นเดียวกับเสื้อผ้าของผู้ใหญ่ จึงกระตุ้นความต้องการซื้อจากพ่อแม่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอาหาร ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็ก ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร ความสะดวกในการประกอบอาหารที่ต้องสอดรับวิถีชีวิตคนเมือง และกลุ่มอาหารพิเศษสำหรับเด็กที่แพ้สารอาหารบางชนิด อาทิ โปรตีนในนมวัว กลูเตน โปรตีนเวย์เคซีน

ดึงนานาชาติเข้าร่วมสร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย

จากปัจจัยดังกล่าวจึงเตรียมความพร้อมที่จะจัดงาน Kind + Jugend ASEAN เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์และของใช้จำเป็นสำหรับแม่และเด็กแห่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 5-8 เมษายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายและการเจรจาธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับสินค้าแม่และเด็กแห่งภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสนับสนุนอย่างเป็นทางการของพันธมิตร อาทิ กรุงเทพมหานคร หอการค้าไทย สมาคมการค้าของเล่นและผลิตภัณฑ์เด็กไทย Asia Toy & Play Association (สมาคมจากประเทศสิงคโปร์ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมของเล่นที่ปลอดภัยและมีคุณค่าให้กับเด็กในภูมิภาคฯ) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช) สถาบันอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานได้ ที่ www.kindundjugend.asia

สำหรับ Kind + Jugend เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติชั้นนำสำหรับทารกและเด็กวัยหัดเดิน งานนี้จะจัดขึ้นทุกปีที่เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2503 ที่มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ครอบคลุมในทุกประเภทผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น ของเล่น เสื้อผ้า คาร์ซีท รถเข็น อุปกรณ์ภายในห้องน้ำ และเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก ด้วยทางโคโลญแมสเซ่เล็งเห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็กคุณภาพดีในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงในปี 2565 เป็นปีที่เราเชื่อมั่นว่างานแสดงสินค้าในระดับนานาชาติจะกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เราจึงมองว่านี่เป็นโอกาสอันดี และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำแบรนด์ Kind + Jugend ที่เป็นที่รู้จักและถูกยอมรับไปทั่วโลกมาสู่ประเทศไทย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก บริษัท โคโลญแมสเซ่ จำกัด ผู้จัดงาน Kind+Jugend งานแสดงสินค้าชั้นนำของอุตสาหกรรมสินค้าเด็กและเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ประเทศเยอรมัน งานนี้ได้รับความสนใจจากนานาประเทศทั้งในกลุ่มยุโรปและอาเซียนมาโดยตลอด ทางโคโลญแมสเซ่จึงอนุญาตให้ใช้ชื่อนี้และนำมาจัดที่ประเทศไทย โดยครอบคลุมตลาดอาเซียน

การจัดงานในครั้งนี้ คาดหวังผู้เข้าร่วมแสดงงานทั้งในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งผู้ร่วมแสดงงานจากภูมิภาคอื่นๆด้วย อาทิเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ประมาณ 200 กว่าบริษัท  ผู้ร่วมแสดงงานแบ่งตามประเภท ประกอบไปด้วย1. Toy & Childhood Education ผลิตภัณฑ์ของเล่น ของเล่นเสริมพัฒนาการ ของเล่นเพื่อการศึกษา 2. Carriage & Furniture ผลิตภัณฑ์กลุ่มเก้าอี้เด็ก รถเข็น และเฟอร์นิเจอร์ 3. Hygiene & Care – ผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขลักษณะแม่และเด็ก 4. Children & Mother Wear เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายแม่และเด็ก 5. Nutrition ผลิตภัณฑ์กลุ่มโภชนาการสำหรับเด็ก 6. Baby Tech ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับเลี้ยงเด็ก 7. อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ บริษัทประกันภัย สื่อ สมาคมต่างๆ

สำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมงานเคาดหวังมากกว่า 3,000 คนจากประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน (โดยเฉพาะ ASEAN+3+6 อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) โดยเน้นที่กลุ่มผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย ผู้ค้าส่ง ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด ผู้ค้าออนไลน์ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชน โรงพยาบาล และศูนย์เด็กเล็ก 

โดยมีการตอบรับจากทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ค และเยอรมนี  มากว่า 200 แบรนด์ชั้นนำ คาดว่ามีมูลค่าการซื้อขายในการเจรจาทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมช่วยสร้างศักยภาพให้ตลาดผลิตภัณฑ์แม่และเด็กในภูมิภาคฯ ให้เติบโตไปอีกขั้น

นอกจากผู้เข้าร่วมชมงานจะได้เยี่ยมชมบูธและสินค้าภายในงานแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมชมงาน อาทิ  เวิร์คช็อป สัมมนา การประชุมเชิงวิชาการ และการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ และอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานคือ Kind + Jugend ASEAN innovation award อีกด้วย

ผู้ปกครองควักเงินพร้อมจ่ายสินค้าพรีเมี่ยม

นายภูษิต กล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคและโอกาสการส่งออกสินค้าเด็กในตลาดโลกและศักยภาพการส่งออกของไทย อัตราการเกิดใหม่ของประชากรโลกมีทิศทางชะลอลง แต่แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาค ในภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตราการเกิดค่อนข้างน้อย ขณะที่ประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ซึ่งประชากรที่ลดลงมากเกินไปจะกระทบต่อตลาดแรงงานในอนาคต หลายประเทศตระหนักถึงความสำคัญ จึงออกนโยบายส่งเสริมการมีบุตรมากขึ้น ภายหลังการระบาดของไวรัส โควิด-19 ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพ่อแม่ยุคใหม่ กระตุ้นความต้องการสินค้าเด็กที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ และเข้าถึงผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญ Euromonitor คาดว่าปี 2561 – 2566 ความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กจะเติบโต 18% ต่อปี

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าสินค้าสำหรับเด็กที่เป็นพรีเมียมมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของพ่อแม่และผู้ปกครองที่ดีขึ้น ประกอบกับจำนวนบุตรต่อครอบครัวลดลง ทำให้พ่อแม่ทุ่มเทและต้องการให้ลูกได้ใช้ของที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับแนวโน้มความต้องการสินค้าออร์แกนิคที่เพิ่มขึ้น จากความกังวลในเรื่องของการปนเปื้อนสารเคมีที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูก

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารระดับแนวหน้าของโลก มีภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลกเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเป็นศูนย์ให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์ครบวงจร จึงควรใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทย สร้างโอกาสจาก ผู้บริโภคต่างชาติ ขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ต่าง ๆ ในการพัฒนาสินค้าและบริการที่โดดเด่นและมีคุณภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก บริการ และผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์บำรุงและอาหารเสริมสำหรับคุณแม่หลังคลอดบุตร เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน