ฤกษ์ดี กทท.-กลุ่ม จีพีซี ลงนามโปรเจ็กต์พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดประตูการค้า-ดึงนักลงทุน ก้าวสู่ฮับคมนาคมขนส่ง จ่อประเดิมเปิดเฟสแรกปี 68 กวาดรายได้ปีละ 4 พันล้าน รองรับปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าเพิ่ม 2 ล้าน ที.อี.ยู. พร้อมดันขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟ 30%
25 พ.ย.2564-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จํากัด ว่า โครงการดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ครั้งสำคัญของประเทศไทย และเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ รองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต บริหารจัดการขนส่งหลายรูปแบบ เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาและขยายพื้นที่หลังท่าของท่าเรือแหลมฉบัง ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นประตูการค้า ของนักลงทุนสู่ประเทศเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว
นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตก (East West Corridor) ไปสู่จีนตะวันตก จีนตอนใต้ และอินเดีย อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์สำคัญในการคมนาคม การขนส่งกระจายสินค้า ที่จะเชื่อมโยงกับโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางรถไฟในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเอเชีย
ด้านเรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า กทท. ได้ก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 และเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2534 พร้อมทั้งพัฒนาก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 ตามลำดับ
ทั้งนี้ มีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง เติบโตมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 30 ปี โดยจากผลรายงานการศึกษา พบว่าปริมาณตู้สินค้ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มเกินกว่าขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังทั้ง 2 ระยะ รวมกันที่ประมาณ 11.1 ล้าน ที.อี.ยู.ในปี 2566
อย่างไรก็ตามส่งผลให้ต้องมีการเตรียมเร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งในส่วนของท่าเทียบเรือ F คาดว่า ท่าเรือ F1 จะเปิดบริการได้ภายในปี 2568 รองรับสินค้าได้เพิ่มขึ้น 2 ล้าน ที.อี.ยู. คาดว่า จะสร้างรายได้ตั้งแต่ปี 2568-2572 ปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท และในส่วนท่าเรือ F2 จะเปิดบริการได้ภายในปี 2572 รองรับสินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 2 ล้าน ที.อี.ยู. สร้างรายได้ตั้งแต่ปี 2573 ปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งถือเป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าได้ถึง 7 ล้าน ที.อี.ยู. ต่อปี จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังทั้ง 3 ระยะสามารถมีการรองรับตู้สินค้าไม่น้อยกว่า 18 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี รวมถึงรองรับกับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางเรือ และการขนส่งทางรถไฟ
เรือโทยุทธนา กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญ ตามแผนการพัฒนา EEC ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ให้ความเห็นชอบมาตั้งแต่เริ่มต้น EEC โดยมีนโยบายให้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ภายใต้กรอบการร่วมทุนกับเอกชน
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนภาครัฐมากกว่า 50,000 ล้านบาท และเอกชนร่วมลงทุนในส่วนของท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว จะสร้างรายได้กับประเทศและประชาชนประมาณ 118,000 ล้านบาท พร้อมทั้ง เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในพื้นที่ และเพิ่มเทคโนโลยีด้านการขนถ่ายสินค้าท่าเรือ ด้วยเครื่องมือขนถ่ายสินค้าประเภทตู้สินค้าที่ทันสมัยด้วยระบบอัตโนมัติ
ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าว สามารถขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของตู้สินค้าผ่านท่าเรือทั้งหมด และเป็นท่าเรือที่ทันสมัยในการบริหารจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ประการหนึ่งในการแข่งขันกับท่าเรือคู่แข่ง ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือสีเขียวในการคำนึงถึงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และคำนึงถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้อยู่ในระดับมาตรฐาน นอกจากนี้ กทท.ได้ลงทุน700 ล้านบาท เพื่อสร้างรถไฟหลังท่าในการขนส่งค้าระหว่างรางไปยังท่าเรือฯ
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ EEC มีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 4 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 654,921 ล้านบาท แบ่งเป็น เอกชนลงทุน 416,080 ล้านบาท และรัฐลงทุน 238,841 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงรถไฟเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุน 276,561 ล้านบาท
2.โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงินลงทุน 204,240 ล้านบาท 3.โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 64,905 ล้านบาท และ 4.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง วงเงินลงทุน 109,215 ล้านบาท โดยเอกชนให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 201,352 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จํากัด ได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่โดยมีทุนจดทะเบียน วงเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F นั้น กทท. จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ ที.อี.ยู. และเอกชน จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาทต่อไร่ต่อปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ โดย กทท. จะเริ่มดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี วงเงินเอกชนลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งตลอดระบะเวลาสัมปทาน กทท. จะได้รับผลตอบแทน วงเงินรวมประมาณ 87,400 กว่าล้านบาท
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาท และท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในระยะแรกเมื่อท่าเทียบเรือ F แล้วเสร็จ จะสามารถรองรับได้ 4 ล้าน ที.อี.ยู. แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือ F1 จำนวน 2 ล้าน ที.อี.ยู. และท่าเทียบเรือ F2 จำนวน 2 ล้าน ที.อี.ยู. โดยหาก กทท. พิจารณาแล้ว พบว่า ใกล้เต็มขีดความสามารถแล้ว จะดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ E ต่อไป ซึ่งคาดว่า ประมาณ 10 ปีข้างหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.เคาะแพ็กเกจใหญ่ช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี'
ครม. อนุมัติชุดใหญ่! จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่