‘คลัง’ เร่งสรุปบัตรคนจนรอบใหม่ คาดได้สิทธิ 13 ล้านคน

‘คลัง’ เร่งเครื่องสรุปบัตรคนจนรอบใหม่ เผยเหลือผู้ได้รับสิทธิ์ใกล้เคียงรอบก่อนที่ 13 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียน 20 ล้านคน ฟุ้งเศรษฐกิจไทยโตสวนโลก ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด ด้าน “ธปท.” แจงทยอยขึ้นดอกเบี้ยให้เข้าสู่ระดับปกติ ชี้เรตห่างจากต่างประเทศ 3% ไม่ทำเงินทุนไหลออก เคาะจีดีพีปี 2566 โต 3.7%

15 ก.ย. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ ปี 2566 ในงาน Thailand Future Economic Forum 2023 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีเพียงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด แต่ในช่วงไตรมาส 1/2566 ภาคการส่งออกในเชิงปริมาณหดตัว แต่มูลค่ายังแข่งขันได้เพราะเงินบาทอ่อนค่า

“ยืนยันว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแต่เราไม่ชะลอด้วย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยยังโตเป็นบวกได้เพียงไม่กี่ประเทศ แต่สิ่งที่ต้องทำเพื่อสนับสนุนการส่งออกคือการมองหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านที่มีโอกาสเติบโตค่อยข้างสูง ในกลุ่มสินค้าเอสเอ็มอี” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจัดทำงบประมาณ โดยต้องมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะถ้าลดลงหมายความว่ารัฐบาลไม่มีเงิน ซึ่งในปีงบประมาณ 2566-2567 งบประมาณยังมีการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งจะมาจากการหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ดุลการคลังติดลบน้อยลง โดยในปีงบประมาณ 2566 ขาดดุล 6.9 แสนล้านบาท ส่วนปี 2567 มีการขาดดุลลดลง 1.02 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงมา ก็จะช่วยลดการก่อหนี้สาธารณะลง

ทั้งนี้ หากมีการทำงบประมาณขาดดุลมาก ๆ เป็นเวลานาน ก็ต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 60.67% หากตามวินัยการคลังเดิมถือว่าเกินที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว แต่ที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะขึ้นอีก 10% เป็น 70% ทำให้มีช่องว่างการทำนโยบายเพื่อรองรับวิกฤต ดังนั้น ทรัพยากรของเราไม่มีปัญหา การก่อหนี้เพิ่มอีกก็ไม่กระทบวินัยการคลัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะต้องกู้เพิ่มอีกจนเต็มเพดาน โดยหนี้ส่วนใหญ่กว่า 80% ก็เป็นการกู้เพื่อมาลงทุน ซึ่งจะมีผลตอบแทนในระยะยาว

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะได้รับขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศ ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการของรัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน โดยการใช้จ่ายขยายตัวในระดับ 3-4% เป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสม ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงว่ามีเหตุการณ์ให้ต้องเตรียมตัวอย่างไร ที่สำคัญส่วนที่จะเป็นส่วนช่วยเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นคือการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งโครงการลงทุนในอีอีซี ที่จะต้องเร่งเข้ามาในปีหลังจากช่วงโควิด-19 ระบาด ที่การลงทุนมีการชะลอตัวลงไปมาก

ในส่วนความคืบหน้าเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 (บัตรคนจน) นั้น รมว.การคลัง ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน เบื้องต้นคาดว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนที่ 20 ล้านกว่าคน เมื่อผ่านการคัดกรองร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ์ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินใหม่ ใกล้เคียงกับรอบที่ผ่านมาที่ประมาณ 13 ล้านคน โดยคลังกำลังเร่งพิจารณารายชื่อเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนจะทันจ่ายเงินวันที่ 1 มี.ค.2566 หรือไม่ ต้องไปดูตารางเวลาอีกครั้ง ว่าจะต้องมีการปรับแก้ไขอะไรหรือไม่

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชน เสนอให้ ธปท. ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ว่า กรณีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้พิจารณาเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้อยู่ในระดับปกติ และยังคงอยู่ในขั้นตอนของการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเข้าสู่ระดับปกติ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังไม่อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

“ดอกเบี้ยปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในระดับปกติ และเงินเฟ้อยังไม่ได้เข้าเป้า ความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยยังมี หาก ธปท. หยุด ไม่ทำอะไร จะหมายความว่าเราพอใจกับเงินเฟ้อระดับนี้ เราโอเคหมดแล้วหรือไม่ การขึ้นดอกเบี้ยมันจะช่วยเรา หากมีช็อกในอนาคต เราจะมี policy space ถ้าหยุดแค่นี้ policy space ก็เหลือน้อย ทำอะไรไม่ได้ และเราไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยสูงจนชาวบ้านเดือดร้อน แต่เราต้องดูว่าผู้ฝากเงินได้รับประโยชน์ด้วย หากดอกเบี้ยต่ำนาน จะทำให้ต้องไปหาอะไรเสี่ยง ๆ ที่แม้อาจได้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงมากก็ขึ้นเยอะ” นายเมธี กล่าว

นายเมธี กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 3.7% ดีขึ้นจากปี 2565 และคาดว่าในปี 2567 ก็จะเติบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ น่าจะเริ่มชะลอตัวลงจากปีก่อน โดยอยู่ในระดับที่ทรงตัว แต่ก็ยังไม่เข้าเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 1-3% แต่เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2567 ดังนั้น นโยบายการเงินจึงยังไม่สามารถผ่อนคลายได้โดยเร็วนัก โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้จะยังอยู่ในระดับที่ห่างจากดอกเบี้ยต่างประเทศถึง3% ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เงินทุนไหลออก โดยพบว่าในช่วงไตรมาส 4/2565 ยังเป็นเงินทุนไหลเข้าสุทธิ

เพิ่มเพื่อน