“แบงก์” ยอมรับเชื่อมั่นระส่ำหลังประชาชนเจอพิษดูดเงินผ่านบัญชีระบาดหนัก รอรัฐเข็นกฎหมายแชร์ข้อมูลร่วมสกัดโจรกรรม-ลงขันระบบกลางล้อมคอกอายัดบัญชีได้โดยไม่ต้องรอใบแจ้งความ
14 ก.พ. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ทางการได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการแก้ปัญหามิจฉาชีพ หลอกลวงเงินประชาชน ดูบัญชีเงินฝากผ่านแอปลิเคชันต่าง ๆ และขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ โดยเฉพาะข้อความที่ส่งมาเป็นอันขาด โดยเฉพาะข้อความข่มขู่ให้เกิดความกลัวจากหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ที่หลอกลวงว่าท่านยื่นเสียภาษีไม่ถูกต้อง หรือมีของต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งยืนยันว่าทุกกรมมีนโยบายไม่ให้เจ้าหน้าที่โทรหาประชาชนเด็ดขาด หากสงสัยให้วางสายและติดต่อกลับมาที่กรมโดยตรง
ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2565 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบว่ามีผู้ถูกหลอกลวงเฉลี่ยวันละ 800 ราย ซึ่งตามขั้นตอนต้องมีการแจ้งความ มีหลักฐานและแจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัญชี ซึ่งกระบวนการต้องใช้เวลา ดังนั้น ที่สำคัญที่สุดต้องระมัดระวัง เพราะเป็นการทำธุรกรรมด้วยตัวเอง ธนาคารไม่ได้ไปทำให้ ในกรณีที่ธนาคารดำเนินการก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าไปกดยืนยันด้วยตัวเอง ให้ข้อมูลด้วยตัวเอง ก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ซึ่งธนาคารก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ที่สุด
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ยืนยันว่าระบบโมบายแบงกิ้ง ใช้มาตรฐานความปลอดภัยในการทำธุรกรรมสูงสุดของโลก การโดนหลอกเงินเจ้าของบัญชีต้องไม่ให้สิทธิ์การกด หรือให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งยอมรับว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์จำนวนมาก ๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของธนาคารอยู่แล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอสอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมาย เพื่อป้องการการโจรกรรมทางไซเบอร์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางคือ การใช้อินเตอร์เน็ต ระบบเทเลคอม ที่จุดสุดท้ายคือสามารถยับยั้งเหตุได้รวดเร็วขึ้น แต่ปัจจุบันข้อมูลระหว่างธนาคารไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีกลไกของกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลกำกับดูแลอยู่ การยกร่างกฎหมายก็จะทำให้แต่ละธนาคารสามารถส่งข้อมูล ธุรกรรม ผู้ใช้เจ้าของบัญชีที่มีความน่าสงสัยระหว่างกันได้ เช่น บัตรประชาชนใบเดียวกัน เปิดหลายบัญชีผิดปกติ ก็สามารถเฝ้าระวังติดตามได้
“ขณะนี้หน่วยงานของรัฐ กระทรวงดีอีเอส กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการดูแลกฎหมาย เบื้องต้นถ้ามีผลบังคับใช้ ธนาคารสามารถบล็อกบัญชีได้เลย โดยไม่ต้องรอใบแจ้งความ รวมทั้งแต่ละธนาคารยังมีการพัฒนาระบบกลางร่วมกัน คือ central fraud registry โดย ITMX ดังนั้นการแก้ปัญหาจะเป็นการดูทั้งท่อน ช่วยให้ระบบมีการยับยั้งความเสียหายได้เร็วขึ้น มีการอายัดบัญชีได้ไวขึ้นแน่นอน ส่วนจะภายในกี่ชั่วโมงคงแล้วแต่กรณี” นายผยง กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีอี ประกาศแอปดูดเงิน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับร้ายแรง
รมว. ดีอี ประกาศแอปดูดเงิน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับร้ายแรงสั่งการ สกมช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกัดโจรออนไลน์สร้างความเสียหายกว่า 2,600 ล้านบาทพร้อมปกป้อง ปชช. ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
ข่าวดี ทรูมันนี่ จับมือ Whoscall แจกฟรี 1 ล้านโค้ดให้ใช้ป้องกันมิจฉาชีพ นาน 6 เดือน
ทรูมันนี่ จับมือ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม สำหรับสมาร์ทโฟน ในแคมเปญ “จับมือเพื่อนรัก ตัดสายมิจร้าย (Save Friends From Fraud)” โดยมอบโค้ด Whoscall พรีเมียม เบสิก จำนวน 1,000,000 โค้ด ให้ผู้ใช้ทรูมันนี่ทดลองฟรี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 – 19 กรกฎาคม 2567