'ยสท.' ถกคลังเคาะภาษียาสูบใหม่เล็งลุยรับจ้างผลิต

“ยสท.” แจงอยู่ระหว่างถกคลัง-สรรพสามิต เคาะโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ หวังประคองธุรกิจ-ดูแลชาวไร่ยาสูบได้ พร้อมจ้างเอกชนเดินเครื่องศึกษาทบทวนแผนธุรกิจ โอดกฎระเบียบจำกัดทำแข่งเอกชนลำบาก เล็งลุยธุรกิจรับจ้างผลิต ฟุ้งปี 2566 ผลงานแจ่ม 4 เดือน มั่นใจทั้งปีกำไรฉลุยตามเป้าหมายที่ 240 ล้านบาท

13 ก.พ. 2566 – นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในประเทศปรับขึ้นมาก จากเดิมบุหรี่ในประเทศ ราคาซองละ 51 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 60 และ 66 บาท ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปสูบบุหรี่ที่เป็นนวัตกรรมทางเลือกเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษีเพิ่มมากขึ้น เพราะมีราคาต่ำกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัว โดยโครงสร้างภาษีใหม่ จากเดิมปี 2560 ที่ ยสท.เคยมีกำไร 8,000-9,000 ล้านบาท ล่าสุดในปี 2565 เหลือ 100 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดจาก 80% เหลือ 40%

“ขณะนี้ ยสท.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต ถึงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ว่าควรจะเป็นอย่างไรถึงจะเหมาะสม ต้องมีการทบทวนใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้โครงสร้างภาษีเหมาะสมให้ ยสท.ยังดำรงได้อยู่ ต้องบอกว่า ธุรกิจของ ยสท. เป็นการดูแลชาวไร่ใบยาสูบด้วย เพราะบุหรี่ทุกมวนรับซื้อจากชาวไร่โดยตรง” นายภูมิจิตต์ กล่าว

นอกจากนี้ ยสท.อยู่ระหว่างว่าจ้างบริษัทเอกชน หรือ มหาวิทยาลัย มาทำผลการศึกษาโครงสร้างธุรกิจของ ยสท. ในลักษณะเหมือนให้หมอเข้ามาดูอาการ ว่า ยสท.กำลังป่วยอยู่ แต่ไม่รู้ว่าป่วยเป็นโรคอะไร เมื่อเทียบกับบริษัทเอกชน ที่มีการทบทวนแผนธุรกิจทุกปี แต่ ยสท.ไม่เคยมีการทบทวนเลยกว่า 80 ปี จึงต้องมีผลการศึกษาความเหมาะสมเกี่ยวกับการทำธุรกิจของยาสูบ ในสภาวการณ์แบบนี้ ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 3-4 เดือน

นายภูมิจิตต์ กล่าวอีกว่า ยสท.ต้องกลับมาทบทวน เพราะยุคนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก ยสท.อาจจะไม่เหมาะกับการขายบุหรี่ อาจถนัดผลิตอย่างเดียว ดังนั้น จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้าง ตั้งบริษัทลูก หรือเป็นบริษัทสัมปทาน มีการแบ่งปันผลประโยชน์ หรือในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือไม่ คงต้องรอผลการศึกษา เพื่อให้การผลิตจำหน่าย เป็นผลดีมากที่สุด

ทั้งนี้ ยอมรับว่าจากระเบียบ ข้อกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ ยสท. แข่งขันกับเอกชนได้ยาก ไม่คล่องตัว ช่องทางการจำหน่ายก็มีปัญหาที่ร้านโมเดิร์นเทรดมากินตลาดร้านแบบดั้งเดิม มีการตัดราคากัน ผู้ค้าบุหรี่เอกชน มีเครดิตเทอม มีค่าคอมมิชชั่นให้พนักงานขาย สามารถวางแผนการทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ ยสท.ไม่สามารถทำได้

“ต้องยอรับว่าธุรกิจนี้คงกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะเทรนด์โลกที่หันมาให้ความสนใจเรื่องการลดการสูบบุหรี่ลง ดังนั้นก็ต้องมาดูสิ่งที่ ยสท. จะทำได้ รวมไปถึงต้องโฟกัสบุหรี่ลักลอบด้วย หากน้อยลงก็อาจจะทำให้คนหันกลับมาใช้สินค้าของเรามากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง เพราะยุคนี้เปลี่ยนไปเร็ว ซึ่งวันนี้เรารู้ว่าเราป่วย แต่ไม่รู้เป็นโรคอะไร ก็ต้องเอาหมอเก่ง ๆ มาสแกนร่างกาย อาจจะทำให้ ยสท. เห็นว่าเราอาจจะถนัดเรื่องผลิตมากกว่า ไม่ถนัดขาย เพราะมีระเบียบปฏิบัติเยอะที่เราอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ ก็อาจจะมาในรูปแบบต่าง ๆ คงต้องรอผลการศึกษา เพื่อให้ความเป็นตัวตนของยาสูบในการผลิตและจำหน่ายให้มีผลดีที่สุด” นายภูมิจิตต์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผลดำเนินงาน ยสท.ล่าสุดดีกว่าที่คาด โดยปี 2565 มีผลกำไรสุทธิ 120 ล้านบาท ส่วน 4 เดือนแรกของปี 2566 มีแนวโน้มดีกว่าที่คาด มีกำไรสูงกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน เป้าหมายทั้งปี 240 ล้านบาท โดยในปีนี้ ยังมีภารกิจดูแลชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาปัจจัยการผลิต ปุ๋ย สารเคมี ราคาน้ำมัน ที่ทำให้ชาวไร่ทีปัญหา จึงได้ชดเชยราคาไปครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้กับชาวไร่ รวมทั้งพิจารณาโควตารับซื้อใบยา ก็พยายามส่งออกและรับซื้อเพราะตลาดโลกตอนนี้มีความต้องการสูง ซึ่งอาจจะมีที่ประเด็นใบยาบางชนิดที่รับซื้อราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก และมีอยู่ในคงคลังสูง ต้องวางแผนการระบายควบคู่กับการรับซื้อใบยาชนิดอื่น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทรู ประกาศทิศทางธุรกิจ ปี 2024 ดึงพลัง AI ยกระดับลูกค้า

ทรู ดึงพลัง AI ขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสร้างประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส ประกาศ 3 กลยุทธ์หลัก ปูทางเติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

SCG ปรับตัวครั้งใหญ่ เปิด 4 ภารกิจ เดินหน้าทำกำไรจากธุรกิจสีเขียว 

SCG ชวนจับตาหลายวิกฤติทั่วโลก ลั่นเตรียมพร้อมรับทุก "เซอร์ไพรส์" เปิด 4 ภารกิจหลัก เดินหน้าสร้างสังคม Net Zero ตั้งเป้ายอดขายนวัตกรรมกรีน 67% ปี 2573

เมื่อวันที่โลกเปลี่ยน..ปตท.ต้องปรับขับเคลื่อนตอบโจทย์ "มั่นคง-ยั่งยืน"

นับจากวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2521 จากจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ในชื่อ “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” หรือ “ปตท.” ที่ทุกคนคุ้นเคย