นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราจะต้องทบทวนปรับปรุงกฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใช้มายาวนานกว่า 50 ปี ซึ่งมีรากฐานมาจากประกาศคณะปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ.2515 เพราะเป็นกฎหมายที่ตกยุค ล้าสมัย ไม่เหมาะต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมการบริโภคในปัจจุบัน ขัดต่อรูปแบบการดื่มกินของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวในยุคสมัยนี้ เป็นกฎหมายที่มีปัญหาห้ามขายแบบ “เหมารวม” ไม่คำนึงถึงความสำคัญของพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในปัจจุบันอย่างแท้จริง ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจมหาศาล รวมทั้งไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการท่องเที่ยวและการส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ของรัฐบาลในปัจจุบันนี้ด้วย
ทั้งนี้ปัญหาสำคัญในข้อกฎหมายที่ล้าหลังดังกล่าว คือ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 โดยสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา คือ การยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 14.00 – 17.00 น.เพราะไม่สามารถใช้ได้จริง ประชาชนยังสามารถลักลอบซื้อขายหรือซื้อกักตุนไว้ก่อนได้ อีกทั้งเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ได้ขานรับแนวคิดให้ยกเลิกข้อห้ามนี้แล้วเช่นกัน เพื่อเสริมพลังให้การท่องเที่ยวไทยซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมากกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่าในปี 2562 ก่อนโควิดปีเดียว นักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายกับอาหารและเครื่องดื่ม 243,697.65 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายกับอาหารและเครื่องดื่ม 404,587.29 ล้านบาท สอดคล้องกับที่ The International Wine and Spirits Research รายงานว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยในช่วงปี 2554-2558 มีมากกว่า 3 แสนล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2559-2565 เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ตัวเลขเหล่านี้คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและผู้คนในประเทศมาก่อนการระบาดของโควิด-19 หากเราต้องการเร่งเครื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนผ่านไทยสู่ผู้นำโลกด้านการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ครบวงจร การทบทวนปรับกฎหมายกฎหมายแอลกอฮอล์คือความจำเป็นและโดยแท้จริงคือยุทธศาสตร์ชาติ
นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่าเมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัด Socialized and Night Entertainment Zoning ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหนาแน่นให้เปิดบริการได้ถึงตี 4 และให้ร้านสถานประกอบการนอกพื้นที่โซนนิ่งเปิดได้ถึงตีสอง รวมทั้งยกเลิกเวลาห้ามขายระหว่างบ่ายสองถึงห้าโมงเย็น ข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการฯ เป็นข้อเสนอที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับคนมากมายที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ตั้งแต่เจ้าของสถานประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อม พนักงานบริการ คนขับรถรับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าในย่านท่องเที่ยว คนทำงานกลางคืนนักร้องนักดนตรี และชีวิตเล็กๆอีกมากมายในสายพานงานบริการท่องเที่ยวและครอบครัวของเขาที่เรามองข้าม และข้อเสนอดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวทางที่เรียกว่า Regulatory Guillotine (RG) หรือ กิโยตินกฎหมาย ซึ่งเป็นการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อปฏิรูป ลดละเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นล้าสมัยโดยกระบวนการกิโยตินกฎหมายเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนและใช้หลักเกณฑ์ในการทบทวนทั้งในมิติด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์
“ผู้คนตัวเล็กๆ ในห่วงโซ่ขนาดใหญ่ต้องเผชิญวิกฤติจากกฎหมายล้าสมัย ส่งผลกระทบต่อแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัว ปัญหาของกฎหมายดังกล่าวเป็นการปิดโอกาสให้ผู้คนในห่วงโซ่ธุรกิจการท่องเที่ยวได้ลืมตาอ้าปาก ปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยได้เริ่มต้นสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม และปิดโอกาสการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย”นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยกล่าวย้ำ
นางสาวเขมิกา รัตนกุล กล่าวด้วยว่านอกจากนี้เราควรทบทวน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 และ ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนคู่ไปกับการให้การศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยยุคดิจิตัล การปิดกั้นข้อมูลของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ควรเกิดขึ้น ประชาชนผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้รายละเอียดของทุกผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ การให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่อวดอ้างเกินจริง ต้องสามารถกระทำได้ อีกทั้งหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนรางวัลนำจับกลายเป็นแรงจูงใจทางอ้อมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมให้เกิดช่องทางหารายได้พิเศษของเจ้าหน้าที่
สำหรับเหตุผลการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหา “เมาแล้วขับ” ก่อให้เกิดอุบัติเหตุนั้น นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน เพราะการใช้กฎหมายที่ผ่านมายาวนานแต่สถิติประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีอัตราความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยในปี พ.ศ.2564 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อจำนวนประชากรในประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับ 9 ของโลก ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวมกว่า 1 แสนคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยแนวทางที่ถูกต้องเราควรมุ่งไปที่การสร้างความตระหนักรู้และวัฒนธรรมรับผิดชอบด้วยการ “ดื่มไม่ขับ” อย่างเช่นนานาประเทศที่มีการขับขี่บนถนนอย่างปลอดภัย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์กสหราชอาณาจักร ที่มีวัฒนธรรม “ดื่มไม่ขับ” อย่างมีประสิทธิภาพ แถมคนญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษและเวลส์ สามารถซื้อแอลกอฮอล์ได้ซุปเปอร์มาเก็ต 24 ชั่วโมง แต่ก็มีวัฒนธรรมอย่างแข็งแกร่งคือ “ไม่ขับรถเมื่อดื่ม” นอกจากนี้ไทยเราควรควรหยุดรณรงค์สร้างภาพคนดื่มแอลกอฮอล์เป็น “ปีศาจสุรา” ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย โดยเราควรหันมารณรงค์เชิงสร้างสรรค์จากการสร้างภาพผีขี้เมามาเป็นการให้ข้อมูลทางสุขภาพที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ผลักให้ผู้ดื่มกลายเป็น “คนบาป” ในสังคมไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ประกอบการธุรกิจสถานบันเทิง ยื่นหนังสือต่อนายกฯ วอนขยายเวลาปิดสถานที่ท่องเที่ยวและบริการ
ครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยมี นางสาวเขมิกา รัตนกุล