‘อีอีซี’ ลุยรับฟังความคิดเห็นดึงเอกชนลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอู่ตะเภาเคาะสัญญาเช่า 30 ปี

อีอีซี ว่างเป้า ดีเดย์ 7 ธ.ค.นี้ จัดมาร์เก็ตซาวดิ้งดึงเอกชนลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ปั้นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เคาะสัญญาเช่า 30 ปี มั่นใจได้ตัวเอกชนในปี 2565 คาดเปิดเมืองการบินได้ในปี 2568 

24 พ.ย.2564-นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน Aviation Technical Zone หรือ ATZ ว่า สกพอ.วางแผนพัฒนาพื้นที่ 905 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน สนับสนุนท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน

อย่างไรก็ตามขณะนี้ สกพอ. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น International Market Sounding ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของแผนพัฒนาโครงการดังกล่าว เชิญชวนนักลงทุนและสำรวจความต้องการ โดย สกพอ.มีเป้าหมายให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในลักษณะเช่าพื้นที่พัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมซ่อมบำรุง (MRO) กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และกิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน

“ตอนนี้เราเชิญนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมไปถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังข้อมูลรวมประมาณ 50 – 60 ราย โดยการจัดมาร์เก็ตซาวดิ้งครั้งแรกนี้จะเป็นการชี้แจงถึงรายละเอียดโครงการและเชิญชวน หลังจากนั้นอีก 2-3 เดือน เราจะจัดครั้งที่ 2 คัดเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่มีความต้องการลงทุนในโครงการเข้าร่วมรับฟังรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม”นายโชคชัย กล่าว

ทั้งนี้ สกพอ.จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในส่วนของ
กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน และพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์สนับสนุนการบิน โดยประเมินมูลค่าที่เอกชนต้องลงทุนอยู่ที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท สกพอ.จะให้สัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปี จึงคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากการให้เช่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งจะเพิ่มอัตราการจ้างงานประเภทแรงงานทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 3,000 ตำแหน่ง เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ นำไปสู่การยกระดับการศึกษาในอุตสาหกรรมการบิน

อย่างไรก็ตามก็ตามขณะนี้ สกพอ.อยู่ระหว่างออกแบบจัดทำแผนแม่บทและวางผังภายในพื้นที่กิจกรรม ATZ คาดว่าหลังจากจัดทำมาร์เก็ตซาวดิ้งแล้วเสร็จ จะเริ่มดำเนินการคัดเลือกเอกชนผู้เช่าได้ภายในปี 2565 หลังจากนั้นเอกชนจะสามารถเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างโครงการทันทีในปี 2566 และพร้อมเปิดให้บริการในปี 2568 พร้อมกับการเปิดให้บริการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

นายโชคชัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ด้วยว่า ปัจจุบันบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ได้ส่งรายงานแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) ไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบและอนุมัติแล้ว โดยขณะนี้ UTA อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดอาคารผู้โดยสาร อีกทั้งยังหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายโชคชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้รับทราบข้อมูลว่าทาง UTA ยืนยันไม่มีการเจรจาเรื่องเยียวยา อาจเพราะประเมินแล้วว่าโครงการจะเปิดให้บริการในปี 2568 ซึ่งการเดินทางเริ่มฟื้นตัว มั่นใจในเอกชนกลุ่มนี้ เพราะ UTA มีสายการบินบางกอกแอร์เวย์สให้บริการธุรกิจการบินอยู่แล้ว บีทีเอสก็มีความแข็งแกร่งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และซิโนไทยก็มีความเชี่ยวชาญเรื่องงานก่อสร้าง มั่นใจว่าโครงการนี้จะเปิดให้บริการเป็นไปตามแผนในปี 2568

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี

รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ

'พิชัย' ชวนนักธุรกิจ นักลงทุน สหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี - แลนด์บริดจ์

'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก