กบน. ไฟเขียวลดราคาดีเซลลง 50 สตางค์/ลิตร มีผล 15 ก.พ.นี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน สะท้อนราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ลุ้นราคาปรับลงเพิ่มอีก
2 ก.พ. 2566. – นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) มีมติเห็นชอบการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 50 สตางค์/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่ประมาณ 34.50 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2566 เป็นต้นไป จากเพดานตรึงราคา ตามนโยบายรัฐไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร
โดยการปรับลดราคาขายปลีกดีเซลครั้งนี้เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือนหลังจากที่มีการขยับราคาดีเซลมาอยู่ที่ 35 บาท/ลิตร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันราคาขายปลีกดีเซลหน้าสถานีบริการอยู่ที่ 34.94 บาท/ลิตร การปรับลดลง 50 สตางค์/ลิตรครั้งนี้ จะส่งผลให้ราคาขายหน้าปั๊มอยู่ที่ 34.44 บาท/ลิตร (ไม่รวมภาษีบำรุงท้องที่)
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกปรับลดลง เห็นได้จากเดือนม.ค.2566 ราคาดีเซลตลาดโลกเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 116.12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากราคาเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 135.53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งหากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มลดลงอีก คาดว่าจะมีการพิจารณาความเหมาะสมในการปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลต่อไป
“การปรับลดราคาดีเซลลงมีผลวันที่ 15 ก.พ.2566 เพราะต้องให้เวลาผู้ค้าน้ำมันมีเวลาบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันที่มีอยู่ก่อนจะปรับลดราคาขายหน้าปั๊มลง ซึ่ง กบน.ยืนยันมอนิเตอร์ราคาน้ำมันตลาดโลกทุกวัน เพราะจะมีผลต่อการพิจารณาขึ้นหรือลงเท่าไหร่ เมื่อไหร่จึงจะเหมาะสม ที่สำคัญจะมีผลต่อฐานะและสภาพคล่องของกองทุน” นายวิศักดิ์ กล่าว
นายวิศักดิ์ กล่าวว่าจากข้อซักถามว่ามีโอกาสที่ราคาขายปลีกดีเซลจะปรับลดลงถึง 2 บาทตามที่กระทรวงการคลังเสนอหรือไม่ว่า “เป็นไปได้หมด แต่ตอนนี้มองว่าตัวที่พิจารณาร่วม คือ แอลพีจีหรือก๊าซหุงต้มที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ประกาศปรับขึ้นอีกกิโลกรัม(กก.) ละ 1 บาท ส่งผลให้ก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กก. ปรับขึ้นไปที่ 423 บาท มีผลวันที่ 1 มี.ค.2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. จนถึงวันที่ 28 ก.พ.2566 เท่านั้น จากราคาที่สะท้อนต้นทุนจริงควรจะอยู่ที่ 460-470 บาท/ถัง 15 กก. ซึ่งการขึ้นก๊าซหุงต้มอาจทำให้กองทุนยังพอมีสภาพคล่องมาช่วยลดดีเซลได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 29 ม.ค.2566 ติดลบ 113,436 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 68,133 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 45,303 ล้านบาท โดยกองทุนอุดหนุนแอลพีจีประมาณ 6.12 บาท/กก. คิดเป็นเงินไหลออกวันละ 24.30 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 680 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของดีเซลเก็บเงินเข้ากองทุน 5.19 บาท/ลิตร มีเงินไหลเข้าวันละ 404.18 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 11,317 ล้านบาท สุทธิกองทุนมีเงินไหลเข้าวันละ 379.88 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 10,637 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กบน. เคาะใช้กองทุนน้ำมันฯ หนุนเบนซิน 1 บาท/ลิตร
กบน.เคาะใช้กองทุนน้ำมันฯ หนุนเบนซิน 1 บาท/ลิตร หลังสิ้นสุดมาตรการลดการจัดเก็บภาษีกรมสรรพสามิต ลั่นช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน
กองทุนน้ำมันฯ เร่งศึกษาศักยภาพเชื้อเพลิงชีวภาพ ก่อนขยายระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยต่อ
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมรวบรวมข้อมูลทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล จากผู้ประกอบการและเกษตรกรในการปรับตัวพัฒนาศักยภาพรองรับภายหลังการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ซึ่งการขยายระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพรอบแรกจะสิ้นสุดวันที่ 24 กันยายน 2567
อ่วม! กองทุนน้ำมันติดลบรวม 7.8 หมื่นล้านบาท
สกนช. อัปเดตสถานะกองทุนน้ำมันติดลบรวม 7.8 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดผลงานช่วงปี 66 ใช้กลไกกองทุนประคองราคาดีเซล เบนซิน และก๊าซ LPG ลั่นช่วยบรรเทาค่าครองชีพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
สกนช.แย้มจ่อชง 2 แนวทางดูแลราคาน้ำมันขายปลีก
สกนช.แย้มจ่อชง 2 แนวทางดูแลราคาน้ำมันขายปลีก ดึงกลไกลดราคาภาษีสรรพสามิตกลับมา พร้อมใช้วงเงินกู้ของกองทุนอุดหนุน