นายกฯ หนุน 'รัฐ-เอกชน' สร้างเครือข่ายธุรกิจ 'ไทย-ญี่ปุ่น' ต่อยอดการค้าการลงทุน

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ผลักดันความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ต่อยอดการค้าการลงทุนทั้งในระดับท้องถิ่นถึงนิคมอุตสาหกรรม

01 ก.พ.2566 - นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ภายหลังกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ผลักดันความร่วมมือด้วยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงนิคมอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดการค้าการลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร และถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นแห่งที่ 23 ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นตัวแทนหลักในการประสานความร่วมมือในลักษณะพื้นที่ต่อพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้า รวมทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (Cluster) ภายใต้แนวคิด OTAGAI หรือ โอ-ทา-ไก ที่แปลว่าการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันการประชุมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม (OTAGAI Forum) ครั้งที่ 22 ที่เมืองนานาโอะในจังหวัดอิชิกาวะ ช่วงต้นเดือน ก.พ.2566 นี้ เพื่อผลักดันความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรม Carbon-fiber-reinforced polymers จากการประยุกต์ใช้เส้นใยกัญชง เป็นความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรม BCG และความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ตลอดจนกระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยจำนวนกว่า 6,000 กิจการ

“นายกฯ เน้นย้ำการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยการส่งเสริมความร่วมมือ และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับความต้องการเริ่มตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนให้มีความหลากหลายในทุกประเภทธุรกิจอุตสาหกรรม ตลอดจนสามารถขยายความร่วมมือไปยังมิติอื่น ๆ ทำให้สินค้ามีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือจะเป็นโอกาสสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย” นายอนุชากล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย

'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท

รัฐบาลดี๊ด๊า! เปิดทำเนียบฯ รับม็อบเชียร์ 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ หนุน 'กิตติรัตน์' นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 'รองเลขาฯนายกฯ' รีบหอบส่ง ธปท.ทันที แย้มวันนี้ไม่เลื่อนแล้ว

นายกฯ ปลื้มยอดผู้โดยสารใช้บริการสนามบินเกือบ 120 ล้านคน

นายกฯ ปลื้มยอดผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่ง เกือบ 120 ล้านคนในปีงบประมาณ 2567 พร้อมเปิดใช้งานเช็กอินระบบ Biometric นำร่องผู้โดยสารในประเทศก่อนเริ่ม 1 พ.ย.นี้