ต้องลุ้น กกพ. ชี้แนวโน้มค่าไฟ พ.ค.- ส.ค. ครัวเรือนจ่ายเพิ่มแตะ 5.24 บาทต่อหน่วย

กกพ.เปิดแนวโน้มไฟฟ้างวดต่อไป พ.ค.-ส.ค. 66 ภาคครัวเรือนจ่ายเพิ่มแตะ 5.24 บาทต่อหน่วย หากรัฐไม่กำหนดให้แยก 2 ราคาเหมือนปัจจุบัน ลุ้นก๊าซอ่าวไทยเข้าตามแผน แอลเอ็นจีตลาดโลกราคาลดลง ค่าไฟมีโอกาสลดลงช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 67

30 ม.ค. 2566 – นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างรวบรวมปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ(แอลเอ็นจี) กำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทย อัตราค่าเงินบาท ความต้องการใช้ไฟฟ้า และปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 กกพ. ให้มีความชัดเจนในช่วงเดือน มี.ค.นี้

“หากสมมติฐานต่าง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ในงวดก่อน อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ก็อยู่ในระดับประมาณ 5.2407 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ หากภาครัฐไม่มีนโยบายกำหนดให้ กกพ.คำนวนอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่มเหมือนช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566”นายคมกฤช กล่าว

นายคมกฤช กล่าวอีกว่าในระยะสั้นโอกาสที่จะเห็นอัตราค่าไฟฟ้าปี 2566 กลับไปต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังไม่เป็นไปตามแผน อีกทั้งต้นทุนราคาพลังงานยังทรงตัวในทิศทางขาขึ้น แต่หากกำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้น และราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) อ่อนตัวลง ก็มีโอกาสที่ค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลงได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยคิดอัตราเรียกเก็บเฉลี่ย 4.7176 บาทต่อหน่วย และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น(ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) คิดอัตราเรียกเก็บเฉลี่ย 5.3325 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากรัฐบาลมีนโยบายให้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแยกเป็น 2 กลุ่มตามเดิม กกพ.ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบาย

สำหรับแนวทางการกำกับกิจการของ กกพ. จากนี้ไป จะสร้างกลไกเพื่อเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติที่อาจมีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการแข่งขัน พร้อมกับรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียวในราคาที่ยอมรับได้ เช่น ไฟฟ้าสีเขียว(Green Tariff) ที่ออกแบบให้มีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรอง (Rec) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและยุ่งยากกับกระบวนการออกใบรับรอง

ปัจจุบัน กกพ.อยู่ระหว่างเตรียมหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถกำหนด อัตรา Green Tariff ได้อย่างเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียว และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ซึ่งเบื้องต้นอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) แล้ว แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า(ไม่เจาะจงที่มา) และ2.อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน(เจาะจงที่มา)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการออกประกาศอัตรา Utility Green Tariff: UGT จะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2566 และประกาศอัตรา UGT 1 และ UGT 2 ได้ในเดือนเม.ย. 2566 นี้ จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจซื้อไฟฟ้าสีเขียวจองสิทธิ์ได้ในช่วงเดือนมิ.ย.2566 และเริ่มการซื้อขายจริงได้ เมื่อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่รัฐเปิดรับซื้อเข้าระบบล็อตใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ เริ่มทยอยผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พพ. ยันอีกเสียงเปิดแอร์ 27 องศา + เปิดพัดลม ชี้ช่วยประหยัดไฟจริง

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แจงกรณีผู้ใช้ TiktoK โพสต์ เปิดแอร์ 27 องศาและเปิดพัดลมแล้วค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ชี้ไม่สมเหตุสมผลและขาดข้อมูลตัวแปรอื่นๆ ยันการเปิดแอร์ที่ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลม ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากกว่าเปิดแอร์ที่ 25 องศาเซลเซียส พร้อมแนะวิธีเช็คตัวแปรทำค่าไฟแพง

บอกต่อ 5 ข้อดีของการจ่ายบิลค่าไฟฟ้าผ่านทางออนไลน์

ในยุคดิจิทัลการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์กำลังเป็นที่นิยม การจ่ายบิลค่าไฟฟ้า ก็เช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันสามารถจ่ายบิลไฟฟ้าทางออนไลน์ได้จากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันขอการไฟฟ้าเองก็ตาม นั่นจึงทำให้การจ่ายบิลค่าไฟฟ้าออนไลน์สะดวก

กกพ.ชี้การทำงานยากขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานใหม่

กกพ.ชี้การกำกับพลังงานยากขึ้น ย้ำไทยยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ชี้พลังงานหมุนเวียนยังพึ่งพาไม่ได้ 100% พร้อมเผยความท้าทายใหม่ ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานใหม่ และความพร้อมของโครงข่ายไฟฟ้ารับการซื้อขายในอนาคต