28 ม.ค. 2566 -ปัจจุบัน ปริมาณขยะในท้องทะเลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกิดจากขยะพลาสติกซึ่งได้รับการจัดการไม่ถูกต้อง โดยประมาณ 10-15% ของขยะพลาสติกเหล่านี้มีโอกาสไหลหลุดรอดลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางที่นำขยะจากบนบกลงสู่ทะเลผ่านทางบริเวณปากแม่น้ำ รวมทั้งมีโอกาสตกค้างอยู่ในระบบนิเวศชายหาด และถูกชะพัดพาลงทะเลกลายเป็นขยะทะเล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเล
แม้ว่าที่ผ่านมาสถานการณ์จะดีขึ้น โดยเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาขยะ และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติในการร่วมกันบริหารจัดการขยะในประเทศ เน้นให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร และตระหนักถึงปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอย โดยเฉพาะการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) เพื่อใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการขยะพลาสติกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความต่อเนื่อง และยกระดับการจัดการให้สอดรับกับสภาพปัญหา นโยบาย และแผนของประเทศ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเล อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรม ทช. (อทช.) ระบุว่า กรมฯ ได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ ภายใต้กิจกรรมบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล และในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 กรม ทช.ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเก็บขยะภายใต้โครงการบริหารจัดการขยะ โดยสามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวมทั้งสิ้น ประมาณ 507 ตัน
สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ของกรม ทช. ได้รับการตอบรับและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายรักษ์ทะเลที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต กิจกรรมภายใต้โครงการบริหารจัดการขยะทะเลประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บขยะที่ตกค้างในระบบนิเวศ ทั้งที่เป็นชายหาด แนวปะการัง และป่าชายเลน การจัดกิจกรรมลดปริมาณขยะในพื้นที่เป้าหมาย 10 แห่งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
อรรถพล กล่าวอีกว่า ทช.ยังเดินหน้ากิจกรรมจัดเก็บขยะอย่างต่อเนื่อง โดยใช้นวัตกรรมทุ่นกักขยะและทุ่นกักขยะลอยน้ำ ล่าสุดได้ติดตั้งทุ่นกักขยะบริเวณปากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทยและอันดามันไปแล้วรวมทั้งสิ้น 56 จุด ในพื้นที่ 22 จังหวัด และเมื่อวันทะเลโลก วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทร” ภายใต้ความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จัดทำบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการบริเวณ 5 ปากแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ บางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางตะบูน ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะได้นำนวัตกรรมทุ่นกักขยะ (boom) เข้ามามีบทบาทในการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในแหล่งน้ำ
นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บขยะโดยใช้เรือเก็บขยะ การรณรงค์จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดสากลแบบมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะท่องเที่ยว อทช.ได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ (สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10) จัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริม ปลูกจิตสำนึกให้ผู้อยู่อาศัยบนเกาะลดใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะ การคัดแยกขยะ และส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านกระบวนการทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำขยะกลับฝั่ง การห้ามนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกและโฟมขึ้นบนเกาะ การสนับสนุนถุงอวนเก็บขยะ เป็นต้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขยะทะเลในพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อธิบดีกรมอุทยานฯโยน 'ทับลาน' เป็นข้อบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต ปัดเอื้อนายทุน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สัมภาษณ์ถึงเสี
กรมอุทยานฯ สกัดจับขนโคกระบือครึ่งร้อย นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
เจ้าหน้าที่ทำการดักซุ่มสกัดการลักลอบนำโคกระบือ บริเวณเส้นทางลำลองทางเข้าบ้านห้วยส้านใน หมู่ 8 ตำบลห้วยผา
ตามรอย’เสือโคร่ง’ คุ้มครองถิ่นที่อยู่ 4 กลุ่มป่า
สถานการณ์ประชากรเสือโคร่งในป่าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่มีรายงานลักลอบล่าเสือโคร่ง สัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวดีคนไทยจากรายงานสำรวจพบเสือลายเมฆ สัตว์ป่าที่พบยากและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบัน
กรมอุทยานฯ ขอขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่าในรอบ 11 ปี จาก 9,000 เป็น 11,000 บาท
กรมอุทยานฯ ขอขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่าจาก 9,000 เป็น 11,000 บาท หลังไม่ขึ้นมาสิบปีเพื่อช่วยค่าครองชีพและขวัญกำลังใจสำหรับงานเสี่ยงภัย
ควบคุมมลพิษ’เตาเผาศพ’ ภัยสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม
ปัญหาเรื่องร้องเรียนเตาเผาศพก่อมลพิษ ทั้งกลิ่นเหม็น เขม่าควันดำ แล้วยังมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 มีอยู่เป็นระยะ ก่อความเดือดร้อนรำคาญ