23 พ.ย.2564-นโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่1พฤศจิกายนให้ความหวังกับภาคธุรกิจว่าเศรษฐกิจกําลังเข้าสู่โหมดการฟื้นตัว จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาทําได้มากขึ้นเมื่อภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุม การฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าเป็นลําดับ ประชาชนเริ่มออกมาใช้จ่าย และนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มมีกลับมาเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรยากาศในภาคธุรกิจเปลี่ยนไปชัดเจน ล่าสุดแบงก์ชาติให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดตํ่าสุดไปแล้ว คือจะมีแต่ขาขึ้นจากนี้ไป ยิ่งทําให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่วิกฤิตโควิดคราวนี้สอนเราคือความไม่แน่นอนมีมากและประมาทไม่ได้ ทําให้การกลับสู่ภาวะเศรษฐกิจที่เป็นปรกติจะเป็นการเดินทางไกลที่มีอุปสรรคตลอดทาง ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาและไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และให้ฟื้นตัวอย่างเข็มแข็งและทั่วถึง รวมถึงทําให้เศรษฐกิจสามารถแข่งขันได้ในโลกเศรษฐกิจที่จะเป็นนิวนอมอลหลังโควิด คําถามคืออะไรคือโจทย์หรือการบ้านนโยบายเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า นี่คือประเด็นที่จะให้ความเห็นวันนี้
ในทางเศรษฐศาสตร์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดจะแบ่งเป็นสามช่วง หนึ่ง ช่วงการระบาดที่เศรษฐกิจถูกกระทบหนักทั้งจากการระบาดและมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ ทําให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจะชะลอหรือติดลบ สอง ช่วงการฟื้นตัวที่รัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม มีการเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา สาม ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหรือ Economic Transformation ที่จะสร้างฐานใหม่ในการผลิตให้กับภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและนําเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน นี่คือสามช่วงของการฟื้นตัวที่ต้องเกิดขึ้น และในแต่ละช่วงบทบาทของภาครัฐในแง่นโยบายเศรษฐกิจจะแตกต่างกัน
ประเทศเราขณะนี้กําลังอยู่ในช่วงสองที่รัฐเรี่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม มีการเปิดประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ความท้าทายต่อนโยบายเศรษฐกิจในช่วงสองนี้มีสามเรื่อง หนึ่ง ดูแลไม่ให้การเปิดประเทศสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมในการระบาดและในการควบคุมการระบาดที่จะมีผลต่อความปลอดภัยทางสาธารณสุขของประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สอง สนับสนุนภาคธุรกิจในการปรับตัวเพื่อให้ภาคธุรกิจมีบทบาทนําในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งจากการขยายการผลิตและการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการจ้างงาน สาม ดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลและประโยชน์ต่อส่วนต่างๆของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัว ทั้งในเรื่องการจ้างงานและผลต่อเนื่องที่จะมีต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้กระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความเข็มแข็ง ไม่เปราะบาง
ในเรื่องแรกคือการระบาดของโควิดหลังเปิดประเทศ ประเด็นที่ต้องให้ความสําคัญสูงสุดและถือเป็นความเสี่ยงสําคัญคือโอกาศที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิดตามมาจากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะจากเชื้อกลายพันธุ์รอบใหม่ และจากเเรงงานต่างชาติและคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฏหมายโดยไม่มีการตรวจสอบควบคุม สื่งเหล่านี้เคยเป็นบทเรียนราคาแพงเมื่อตอนต้นปีที่นําไปสู่การระบาดเฉพาะพื้นที่หรือคลัสเตอร์ก่อนลามเป็นการระบาดใหญ่ทั่วประเทศที่สร้างความเสียหายอย่างมาก การป้องกันสําคัญคือการควบคุมจริงจังผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ การเร่งฉีดวัคซีนครบสองเข็มให้ประชาชนให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ70ของประชากรโดยเร็ว การฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างประเทศที่ทํางานอยู่ในประเทศ การเตรียมยารักษา วัคซีนอุปกรณ์ทางการแพทย์และบุคคลากรให้พร้อมรับมือการระบาดที่อาจเกิดขึ้น และการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากการระบาดและการรักษาตัวเมื่อป่วย ประเด็นที่ต้องตระหนักคือการระบาดในประเทศจะไม่หมดไปตราบใดที่เรายังมีการระบาดอยู่ไม่ว่าจะเป็นจุดไหนในประเทศ แต่การระบาดที่ตํ่าและควบคุมได้จะกระทบเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นวินัยของคนในสังคมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจึงสําคัญมากที่จะทําให้การระบาดอยู่ในระดับตํ่าที่ควบคุมได้ และลดลงเรื่อยๆจากผลของวัคซินในที่สุด
เรื่องที่สอง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งประเด็นสําคัญขณะนี้คือ ปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวมาจากการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลัก การใช้จ่ายภาคเอกชนมีข้อจํากัดจากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงและอํานาจซื้อที่ตํ่าตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ขณะที่การท่องเที่ยวทั่วโลกก็ยังไม่ฟื้นตัวและจะใช้เวลา แต่ที่มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเราคือการลงทุนภาคเอกชนที่ได้ประโยชน์จากสภาพคล่องที่มีมากและอัตราการออมในภาคธุรกิจที่สูง นี่คือจุดที่นโยบายภาครัฐต้องเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อให้ธุรกิจเร่งการลุงทนซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไป ต่อการจ้างงานซึ่งสําคัญสําหรับการสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศขณะนี้ และการสร้างความเข็มเเข็งให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กล่าวคือเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถฟื้นตัวไปสู่ระดับการขยายตัวที่สูงขึ้นได้ถ้าภาคธุรกิจไม่ลงทุน
ดังนั้น ณ.จุดนี้ ซึ่งเป็นจุดเรี่มต้นของการฟื้นตัว นโยบายรัฐควรมุ่งไปสู่การลดข้อจํากัดและสร้างแรงจูงใจที่จะช่วยภาคธุรกิจให้ขยายการผลิต ขยายการลงทุน และขยายการจ้างงาน เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐต้องช่วยภาคธุรกิจในการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับโลกใหม่ที่ธุรกิจไทยต้องเผชิญทั้งเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเพื่อการอยู่รอดทางธุรกิจ นั้นคือ การปรับตัวด้านดิจิตอลเทคโนโลยี่ที่กําลังเกิดขึ้นทั่วโลก และการปรับตัวไปสู่ธุรกิจที่ใช้คาร์บอนตํ่าเพื่อลดปัญหาโลกร้อนที่ธุรกิจและรัฐบาลทั่วโลกกําลังให้ความสําคัญ การช่วยเหลือจากภาครัฐในประเด็นเหล่านี้สามารถทําได้โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย มาตรการการคลังที่ตรงจุด การแก้ไขและผ่อนคลายกฏระเบียบต่างๆที่ไม่จําเป็น และการปรับปรุงกระบวนการทํางานของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
เรื่องที่สาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะนี้ไม่สมดุล ไม่ทั่วถึง และให้ประโยชน์ต่อคนในประเทศต่างกัน คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวดีในภาคการส่งออกและสาขาอุตสาหกรรมและการผลิตที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคขนส่ง การเงินการธนาคาร ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่สาขาบริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใชัจ่ายของประชาชน ซึ่งเกี่ยวพันกับธุรกิจเอสเอ็มอีจํานวนมาก และเป็นที่มาสําคัญของการจ้างงานและรายได้ของแรงงานที่มีรายได้น้อย ยังไม่ฟื้นตัว ทําให้ธุรกิจเอสเอ็มอีและความเป็นอยู่ของกําลังแรงงานส่วนใหญ่ยังลําบากเพราะขาดรายได้ นี่คือความท้าทายที่นโยบายรัฐจะต้องหาทางช่วยเหลือให้ประชาชนส่วนนี้ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพื่อให้การฟื้นตัวเข็มแข็งและเศรษฐกิจของทั้งประเทศไปต่อได้
ในเรื่องนี้นโยบายรัฐที่มุ่งสร้างโอกาสให้เเรงงานและผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีรายได้ในกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงสําคัญมาก เช่น นโยบายสร้างงานเพื่อให้คนที่ว่างงานแต่ต้องการทํางานมีงานทําทั้งจากการลงทุนในโครงการต่างๆของภาครัฐที่ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ และโครงการงานสาธารณะ (Public Work) ที่จ้างคนทํางานเป็นรายวันเพื่อฟื้นฟู ดูแล และซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสาธารณสมบัติ เช่นที่ได้รับความเสียหายจากนํ้าท่วม สิ่งเหล่านี้ถ้าสามารถมีให้ทําได้ในทุกพื้นที่ก็จะช่วยกระจายโอกาสการมีงานทําและมีรายได้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
อีกนโยบายหนึ่งที่สําคัญคือ การดึงแรงงานที่ว่างงานจากสาขาธรุกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว เช่นท่องเที่ยว ไปสู่สาขาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและกําลังขยายตัวเช่นธุรกิจส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ทําให้ผู้ที่กําลังตกงานมีงานทําและมีรายได้ แต่ปัญหาที่ตัองแก้คือทักษะแรงงานที่ไม่ตรงกันระหว่างทักษะเเรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการกับทักษะแรงงานที่ผู้ที่ตกงานในภาคบริการมี จําเป็นที่นโยบายรัฐต้องเข้ามาแก้ในจุดนี้ คือให้แรงงานในภาคบริการสามารถปรับทักษะเเรงงานของตนให้สามารถทํางานในภาคอุตสาหกรรมได้ ผ่านการเรียนรู้ใหม่ การฝึกอบรมและการทดลองทํางาน ซึ่งต้องทําเป็นโครงการระดับชาติร่วมกับภาควิชาการและภาคเอกชนเพื่อนําไปสู่การยกระดับทักษะและความรู้ของกําลังแรงงานที่จะสําคัญทั้งต่อการแก้ไขปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนเเรงงานเฉพาะทางอย่างในปัจจุบัน และการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว ในลักษณะเดียวกัน แนวคิดนี้สามารถนํามาปรับใช้กับเอสเอมอีในภาคบริการที่ไม่มีงานไม่มีธุรกิจ ให้สามารถปรับทักษะและรูปแบบในการทําธุรกิจใหม่ เพื่อให้เปลี่ยนมาเป็นบริษัทในห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมแทน
มาตรการภาครัฐทั้งในเรื่องการสร้างงานและการปรับทักษะแรงงานรวมถึงธุรกิจเอสเอมอีจะสร้างรายได้ให้กับคนที่กําลังตกงาน ทําให้ความจําเป็นที่คนเหล่านี้จะตัองพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐในรูปเงินให้เปล่าต่างๆจะลดลง ผลคือรัฐจะสามารถใช้เงินที่มีช่วยเหลือกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่นผู้สูงวัย ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธภาพมากขึ้น นําไปสู่การปรับระบบการให้ความช่วยเหลือจากปัจจุบันที่ให้เป็นการทั่วไป มาเป็นการให้ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะตรงจุด ประหยัดทรัพยากร และถูกตัองตามหลักการของนโยบายสาธารณะ
ทั้งหมดนี้คือนโยบายเศรษฐกิจที่ประเทศรออยู่ที่จะทําให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กําลังเริ่มขณะนี้เกิดขึ้นจริงจังและเข็มแข็ง และมาตรการเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถทําได้ สําหรับนโยบายช่วงที่สามที่เกี่ยวกับการเตรียมเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวก็เป็นเรื่องสําคัญที่ต้องเตรียม เพราะเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการศึกษา ระบบข้าราชการและธรรมาภิบาลภาครัฐ ระบบภาษี และระบบการช่วยเหลือสังคม เป็นงานใหญ่ที่ต้องทําที่จะสําคัญต่ออนาคตของประเทศ
เขียนให้คิด
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโนยายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล