สังคมไทยเข้ายุคดิจิทัล : ความสำเร็จและการบ้านที่รออยู่

23 ม.ค. 2565 – เศรษฐกิจทั่วโลกขณะนี้กําลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เดินหน้าต่อเนื่องและยากจะหวนคืน ความสำคัญของดิจิทัลเทคโนโลยีต่อคนทั่วโลกเห็นได้ชัดเจนช่วงโควิดระบาดปี 2020-21 ที่ดิจิทัลเทคโนโลยีได้ช่วยให้การทําธุรกิจและการใช้ชีวิตประจําวันสามารถไปต่อได้แม้ต้องรักษาระยะห่างและลดการเดินทาง เพื่อลดการระบาด เป็นแบบนี้เกือบสองปี จนกลายเป็นพฤติกรรมปรกติใหม่หรือนิวนอร์มอลของคนทั่วโลก

ประเทศเราก็ไม่ต่าง เราเห็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ และ ประชาชนใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้นมาก ทั้งในชีวิตประจําวันและการทํางานช่วงโควิดระบาด ทําให้ทุกอย่างสามารถไปต่อได้แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดได้ว่าเป็นการปรับตัวครั้งมโหฬารของคนไทยทั้งประเทศในการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี และรูปแบบดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีบทบาทมากในช่วงโควิดระบาดและยังติดอันดับในแง่พฤติกรรมใหม่ของสังคมไทยถึงปัจจุบันก็คือ

หนึ่ง การทำงานที่บ้านหรือ work from home ผ่านการใช้โปรแกรมonline เช่น ไลน์ ซูม ทีม ในการติดต่องานหรือประชุม สอง การซื้อสินค้าออนไลน์หรือ E-commerce สาม การใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านดิจิทัลเทคโนโลยีอย่าง Facebook Tiktok เพื่อติดตามข่าวสารหรือโฆษณาสินค้า สี่ การใช้แอปฯ ต่างๆอเพื่อโอนเงิน (Digital payments) แทนการใช้เงินสดใช้เช็คหรือไปโอนเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคาร โดยทําผ่านแพลตฟอร์ม Prompt Payหรือ QR code ห้า การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีขับเคลื่อนการทำมาตรการของรัฐ เช่น คนละครึ่ง, ไทยเที่ยวไทย และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกลุ่มเป้าหมาย หก ระบบขนส่งหรือ delivery system ต่างๆ และ เจ็ด เรื่องบันเทิง เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ที่ล้วนได้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยีทั้งสิ้น

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งชี้ว่าสังคมไทยพร้อมปรับตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทําให้พฤติกรรมของคนในสังคมทั้งการทํางานและใช้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไม่รู้ตัว ไปสู่การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้นในชีวิตประจำวัน คําถามคือสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทําไมคนทั้งประเทศสามารถปรับตัวได้แบบข้ามคืน อะไรคือปัจจัยผลักดัน อะไรคือปัจจัยสนับสนุน

คําตอบเรื่องนี้ถ้ามองกลับไปประมาณสิบปีก่อนโควิด ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง แต่มาจากการขับเคลื่อนของหลายปัจจัยที่ผสมผสานกันสร้างให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่สนับสนุนให้การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในประเทศสามารถเกิดได้อย่างกว้างขวาง ทําให้ประเทศมีความพร้อมที่จะปรับใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี และความพร้อมนี้ก็ช่วยประเทศปรับตัวเมื่อการระบาดของโควิด19 เกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ได้แก่

หนึ่ง การพัฒนาระบบชําระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีเป้าหมายให้การโอนเงินในประเทศเพื่อการชําระเงินใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลัก นำไปสู่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ นั้นคือแพลตฟอร์ม Prompt Pay ที่เปิดใช้กลางปี 2559 ที่คนในประเทศสามารถชําระธุรกรรมการเงินที่ให้ผลทันที มีต้นทุนตํ่า และมีประสิทธิภาพ เป็นระบบกลางที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ นำไปสู่การพัฒนารูปแบบชำระเงินต่างๆตามมาโดยภาคเอกชน

สอง แรงกดดันจากการพัฒนาการชำระเงินที่ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในต่างประเทศ ทําให้เศรษฐกิจไทยต้องมีระบบชําระเงินที่มีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการเชื่อมต่อในระดับเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ต่อการยกระดับผลิตภาพของประเทศ รวมถึงทำให้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น ชีวิตสะดวกขึ้น

สาม เป็นพัฒนาการที่สอดคล้องกับแบบแผนการใช้ชีวิตและการคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นสัดส่วนใหญ่สุดของกําลังแรงงานของประเทศ 38 ล้านคนขณะนี้ ที่ต้องการความรวดเร็ว ความทันสมัย และความมีประสิทธิภาพในการทำงานและใช้ชีวิต

สี่ ภาครัฐเห็นบทบาทและประโยชน์ของดิจิทัลเทคโนโลยีในการทํานโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นพัฒนาการกระแสหลักในโลก จึงพร้อมปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง เห็นได้จากเมื่อโควิดเกิดขึ้น รัฐบาลได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานของการโอนเงินด้วยระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยการทำมาตรการของภาครัฐ ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการขับเคลื่อนมาตรการที่เร็วและมีประสิทธิภาพ

ห้า ระบบนิเวศน์ของการโอนเงินและชำระเงินด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาต่อเนื่องจากนโยบายที่เปิดเสรีให้ภาคเอกชนเข้ามาแข่งขันให้บริการประชาชนในธุรกิจโอนเงินและชําระเงิน ตัวอย่างเช่น มีผู้ให้บริการธุรกิจ E-money มากถึง30 ราย โดย 23 รายเป็นผู้ประกอบการนอนแบงค์ ธุรกิจ mobile banking ของสถาบันการเงินในประเทศที่ธุรกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว และธุรกิจ Fintech ที่จดทะเบียนแล้ว 268 บริษัท ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2564

นี่คือห้าปัจจัยที่ทําให้การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในประเทศเรามีการเติบโตสูง บางรายการเช่นธุรกรรมที่ทําผ่าน Mobile banking การเติบโตติดอันดับโลก ทําให้สังคมไทยปัจจุบันมีระดับการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีสูงกว่าเดิมมากโดยเฉพาะการโอนเงิน สะท้อนชัดเจนจากข้อมูลแบงค์ชาติที่สํานักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสามนํามาวิเคราะห์ในรายงานเศรษฐกิจไทยล่าสุด

หนึ่ง ร้อยละ 86 ของการชําระเงินในเศรษฐกิจขณะนี้ทําผ่านระบบออนไลน์ ที่เหลือเป็นออฟไลน์, สอง การถอนเงินสดที่เคาเตอร์ธนาคารลดลงประมาณหนึ่งในสามช่วงปี 2017-2021, สาม การชําระบิลค่าสินค้าและบริการโดยใช้เงินสดเช็คและตราสารอื่นๆลดลง 34 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน เฉพาะเช็คลดลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์, สี่ การโอนเงินโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นมาก จากเฉลี่ย 50 ครั้งต่อคนในปี 2016 เพื่มเป็นกว่า 300 ครั้งต่อคนในปี 2022 และ ห้า การใช้ E-moneyคือการชำระค่าสินค้าหรือบริการโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ใช้บริการได้ชําระเงินล่วงหน้า(pre-paid)ให้กับผู้ให้บริการ เร่งตัวขึ้นมากเช่นกัน จากต่ำกว่า 10 ล้านบัญชีในปี 2010 เพิ่มเป็นมากกว่า 120 ล้านบัญชีในปัจจุบัน มีวงเงินกว่าห้าแสนล้านบาท

นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทําให้การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการโอนและชำระเงินได้กลายเป็นพฤติกรรมปรกติของสังคมไทยที่นับวันจะยิ่งแผ่กว้างและเร่งตัว เป็นเรื่องที่น่ายินดีทั้งในแง่ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการปรับตัวของคนในสังคม

แต่นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ชี้ว่าสังคมไทยกําลังคุ้นเคยกับการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ความท้าทายต่อไปคือการปฏิรูปหรือการ transform ประเทศโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีนำประเทศไปสู่การพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้ประเทศตามทันความก้าวหน้าของโลกและไม่ถูกลืม และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งในความเห็นของผมมีอย่างน้อยสามเรื่องที่ต้องทํา

หนึ่ง ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับวิธีทําธุรกิจและวิธีผลิตไปสู่การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ธุรกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพการผลิต ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของภาคเอกชนในระยะยาว

สอง ภาครัฐต้องใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีปฏิรูปการทำงานของระบบราชการ ทําในทุกมิติที่ต่างประเทศทํากัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐแก่ประชาชน เป็นเครื่องมือช่วยยกระดับคุณภาพการทำนโยบายสาธารณะของประเทศ และสร้างความโปร่งใสในการทําหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ประชาชนไว้วางใจและลดความเสี่ยงของการทุจริคอร์รัปชั่น

สาม ภาคประชาชนต้องพร้อมเรียนรู้ดิจิทัลเทคโนโลยี พร้อมยกระดับทักษะการทำงานและความสามารถของตนในเริ่องดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจ ทําให้กําลังแรงงานของประเทศเป็นกําลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีความสามารถ ที่ประเทศได้ประโยชน์

นี่คือการบ้านที่รออยู่ เป็นการบ้านที่ต้องทํา เป็นการบ้านของภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชน

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน