20 ม.ค. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวในงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน สัญจร ครั้งที่ 4 จ.ชลบุรี โดยมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นเจ้าภาพ ว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ไขหนี้ การลดค่างวด เป็นต้นแต่ไม่ได้หมายถึงการยกหนี้ให้ เพราะสถาบันการเงินยังต้องรักษาสถานะทางธุรกิจอยู่ด้วย รวมถึงการเติมสินเชื่อให้ภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ตลอดจนการสร้างวินัยทางการเงิน และการให้ความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การจัดงานมหกรรมแก้หนี้ที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนจำนวน 4.5 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันลูกหนี้ราว 50% ของที่ลงทะเบียน อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขหนี้
“แม้ว่ามหกรรมแก้หนี้จะจัดครบ 5 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นที่ หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่การแก้หนี้นั้น หากลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือต้องการเข้าร่วมโครงการยังสามารถติดต่อกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ผ่านสาขาได้ เช่นเดียวกัน” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า ในส่วนของการฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนนั้น ปัจจุบันในแง่ของโรงงาน ภาคอุตสาหกรรมนั้น เริ่มกลับมาทำงาน รวมถึงมีโอทีแล้ว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหลังจากที่ไทยมีการเปิดประเทศ และช่วงต้นปีที่ผ่านมาจีนเปิดประเทศ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการเริ่มฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากอัตราการเข้าพักของโรงแรม ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80% และภาคการเกษตร โดยสินค้าเกษตรราคาฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรายได้ประชาชนปรับตัวดีขึ้น
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตรรวม 24 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาภาระหนี้ของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้หรือมีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำลงยังคงมีอยู่
โดยมีการจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างครบวงจร ทั้งการแก้ไขหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ด้วยมาตรการผ่อนปรนให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ ด้วยสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม บริการทางการเงิน การออม การลงทุน ด้วยผลิตภัณฑ์เงินฝากหรือสลากออมทรัพย์อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และเลือกซื้อบ้านมือสอง หรือทรัพย์ NPA เป็นต้นนอกจากภายในงานจะได้พบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินสมาชิกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่งแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์มาร่วมออกบูธเพิ่มเติม ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารยูโอบี รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรอย่างสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้มาร่วมออกบูธเพื่อบริการให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริการให้คำปรึกษาแก้ไขหนี้กับ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย การให้คำปรึกษาในการแก้ไขหนี้เสียบัตรเครดิตกับคลินิกแก้หนี้ โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM)
เลือกซื้อบ้านมือสอง หรือทรัพย์ NPA กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) บริการตรวจสุขภาพทางการเงินฟรี กับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร), การเติมความรู้วางแผนจัดการเงินส่วนบุคคล รู้ทันกลโกงการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), การให้คำปรึกษา วางแผนการออมเพื่อการเกษียณกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และบริการทางการเงินอีกมากมายจากสถาบันการเงินพันธมิตร ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมบรรยายให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) พร้อม Highlight บนเวทีตลอดทั้งงาน อาทิ การบรรยายหัวข้อ “อยู่อย่างไรให้ปลอดหนี้ และเสริมดวงแก้หนี้” กับ หมอช้าง ทศพร ศรีตุลา,“เซ็นอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้ และอยู่บ้านอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้” กับ ซินแสเป็นหนึ่ง วงษ์ภูดร และหัวข้อ “บริหารหนี้อย่างไร ให้การเงินมั่นคง” กับโค้ชหนุ่ม Money Coach จักรพงษ์ เมษพันธุ์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนจากชาวบ้านในชุมชนมาจำหน่าย
สำหรับงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน สัญจร ครั้งที่ 4 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ม.ค. 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน จ.ชลบุรี