คลัง ย้ำไม่นิ่งนอนใจคนถูกดูดเงินในบัญชี แบงก์ชาติเตรียมออกมาตรการเสริม

20 ม.ค. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเรื่องการหลอกลวงทางออนไลน์ ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะโลกดิจิทัล อาจจะถูกหลอกลวงมาให้กดปุ่ม กดลิงค์ต่าง ๆ แล้วเงินก็ถูกดูดไปหมด ซึ่งรวมถึงหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ก็ถูกนำไปอ้างหลอกลวงเงินด้วย ซึ่งล่าสุด มีจำนวนมากที่มีปัญหา รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็ขอให้ตรวจสอบ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็สื่อสารออกไปแล้วขอให้ระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะ เด็กและเยาวชน

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาการถูกหลอกโอนเงินในบัญชี มีมาตรการที่ ธปท.กำลังหารือกันอยู่ โดยเฉพาะแนวทางการให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน ให้มีความตระหนัก ให้ความสำคัญ กรณีที่มีการกดลิงค์ในระบบออนไลน์ต่าง ๆ เหล่านั้นมีความสุ่มเสี่ยง แปลกปลอม ไม่อยากให้ประชาชนเข้าไปคลิก ขณะเดียวกัน ต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยสกัดกั้นเว็บปลอม ให้ทันการณ์มากขึ้น

ทั้งนี้ ในกรณีผู้เสียหายถูกดูดเงินออกจากบัญชีไปแล้วนั้น ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินมีมาตรการดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเต็มที่ ต้องดูเป็นรายกรณี ๆ ไป ถ้าเป็นความผิดพลาดจากสถาบันการเงินก็รับผิดชอบเต็มร้อย รีบพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายของลูกค้าโดยเร็ว แต่ถ้าเกิดจากสาเหตุตัวผู้ใช้เองก็ต้องดูเป็นรายกรณีไป โดยกำหนดให้สถาบันการเงินขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนดร่วมกัน เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ต้องมีการตอบสนองเร็วกว่าที่ผ่านมา

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า แนวทางภาครัฐในการเร่งแก้ไขแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ กรณีที่กำชับให้สถาบันการเงินตรวจสอบ เร่งติดตาม ยอมรับว่ายังมีข้อจำกัด สามารถเร่งได้ แต่ก็ทำได้ถึงจุดเดียว เพราะเมื่อไหร่ที่ไปคาบเกี่ยวกับบุคคลที่สาม หรือ ธนาคารอื่น เช่น การอายัดบัญชีทันทีที่พบว่ามีความผิดปกติ ก็ไม่สามารถก้าวล่วงได้ ตามพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ พีดีพีเอ ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อยู่ระหว่างเร่งปรับข้อกฎหมาย เพื่อให้ธนาคารสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้ผู้ใช้บริการทุกราย ระมัดระวังในการให้ข้อมูล เช่น ให้ USERNAME PASSWORD โดยเฉพาะการกดลิงค์ต่าง ๆ ที่ส่งผ่านกันในระบบออนไลน์ โดยเฉพาะในรายการที่มีการชักชวนแปลก ๆ เช่น เงินกู้ อนุมัติ ชวนชิม คูปอง บัตรลดต่าง ๆ เพราะต้องยอมรับว่าอาชญากร มีระบบ เวลาที่ดูดเงินได้ ก็โอนต่อไปอีกหลายบัญชี ทั้งบัญชีม้า บัญชีข้ามแบงก์ บัญชีเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนมือ เงินของท่านจะถูกส่งต่อไปไวมาก

“เพราะฉะนั้น อย่ากด เพราะการกดมันจะมีหลายเรื่อง คือ ต้องเข้าใจโทรศัพท์ตนเอง เช่น มีระบบอัตโนมัติ หรือ เปิดรับอนุญาต ทำให้ล้วงข้อมูลต่าง ๆ ได้ ที่สุดผู้ใช้คือ กดเอง ต้องรู้ว่ากดอะไร เหมือนท่านไปเซ็นสัญญา ท่านก็ต้องรู้ว่ากำลังเซ็นอะไร ซึ่งเรื่องนี้ทางสมาคมธนาคารก็มีการสื่อสารออกมาตลอดให้ระมัดระวังการใช้งาน ถ้าจะเชื่อมบัญชีจริง ๆ ควรเชื่อมกับบัญชีที่มีวงเงินนิดเดียว อย่าไปเปิดบัญชีหลายอย่าง ถ้าขยันกด ก็ต้องรู้พฤติกรรมการใช้ของตัวเอง”

นายผยง กล่าวว่า ยืนยันว่าตามระบบของธนาคารจะไม่สามารถถูกล้วงข้อมูลจากอาชญากรได้ หากผู้ใช้ไม่ได้ไปกดยินยอมอะไรให้ระบบเอง ส่วนในกรณีผู้เสียหายที่ธนาคารสามารถรับผิดชอบได้ ก็ต้องดูเป็นกรณี ๆ เช่น การแจ้งของผู้ใช้งานเกี่ยวกับความผิดปกติ มีการแจ้งสายไปแล้วหรือไม่ หรือแม้อาจจะแจ้งเร็วแต่ถ้าเป็นหน่วยงานที่เป็นบุคคลที่สาม มีหมายจับตำรวจหรือไม่ มีหมายแจ้งความจากตำรวจหรือไม่ ที่จะให้ธนาคารมีสิทธิ์ในการไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น มีเรื่องกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นข้อจำกัดอยู่

นายผยง กล่าวว่า การตรวจจับระบบหลอกลวง ทำได้เฉพาะตรวจจับในกลไกของแต่ละธนาคารเอง เช่น จับผู้ร้าย ก็จะรู้ผู้ร้ายในธนาคาร แต่ไม่รู้ผู้ร้ายข้ามธนาคาร อาชญากรข้ามธนาคาร ต้องย้ำตรงนี้เป็นขบวนการ ก็สลับหมุนไปได้เรื่อย ๆ ที่ผ่านแต่ละธนาคารก็ได้เตือนกันบ่อย แต่ผู้ใช้ยังไม่สนใจเท่าที่ควร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางสถาบันการเงินได้มีการประเมินตัวเลขความเสียหายจากภัยหลอกลวง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายผยง กล่าวว่า ไม่ได้คุยตัวเลข แต่รู้ว่าตัวเลขมันเยอะ และถามว่าถึงหลักหมื่นล้านบาทหรือไม่ นายผยง กล่าวว่า ถึงหลักหมื่นล้านบาท

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากรในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า เนื่องจากช่วงเดือน ม.ค-มี.ค. ของทุกปี จะเป็นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ทำให้มีมิจฉาชีพฉวยโอกาสในช่วงเวลานี้ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรติดต่อประชาชน พร้อมทั้งอ้างว่าโทรมาแจ้งเตือนและติดตามการชำระภาษี ก่อนแอดไลน์และส่งลิงค์แอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดโดยให้เหตุผลว่า เพื่อตรวจสอบข้อมูลรายได้และเสียภาษีผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ก่อนจะทำการโจรกรรมเงินในบัญชีธนาคารของประชาชน ซึ่งในบางกรณีมีการปลอมแปลงเอกสารราชการเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

กรมสรรพากร จึงขอแนะนำให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับการติดต่อจากผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร แจ้งให้ดำเนินการในเรื่องใดก็ตาม ขอให้โทรมาสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เรื่องดังกล่าวที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161 เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีผู้ขอรับบริการเป็นจำนวนมาก ประชาชนสามารถสอบถามไปยังช่องทางอื่น ๆ อาทิ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ใกล้บ้านท่านทุกแห่งทั่วประเทศ

“ขอย้ำว่า กรมสรรพากรไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ติดต่อประชาชน ทางโทรศัพท์หรือทางไลน์ เพื่อติดตามการชำระภาษี ตรวจสอบข้อมูลรายได้ หรือส่งลิงค์แอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดเพื่อใช้ชำระภาษีใดๆ ทั้งสิ้น”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ส่ง 3 ขุนคลัง แถลงข่าว 'ดิจิทัลวอลเล็ต' 24 ก.ค.

ภายหลังก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าเตรียมจะแถลงรายละเอียดทั้งหมดของโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทในวันที่ 24 ก.ค.2567 ล่าสุดนายกฯไม่มีกำหนดการร่วมแถลงข่าวดังกล่าวแล้ว โดยการแถลงข่าวจะมี

รัฐบาลชวนปชช. จอง-แลกเหรียญเฉลิมพระเกียรติ 'ในหลวง' เริ่ม 24 ก.ค.

รัฐบาลเชิญชวนประชาชน จอง-แลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติ 'ในหลวง' เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ตั้งแต่ 24 ก.ค.นี้