“พาณิชย์”โชว์ผลสำเร็จการขึ้นทะเบียน GI ปี 65 ทำได้รวม 25 รายการ ส่งผลให้มีสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วรวม 177 สินค้า สร้างมูลค่าการตลาดรวมกว่า 48,000 ล้านบาท เผยปี 66 เตรียมลุยผลักดันขึ้นทะเบียนต่อ ตั้งเป้า 20 สินค้า พร้อมเดินหน้าควบคุมคุณภาพ เพิ่มช่องทางขายทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ดันแหล่งผลิตเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
19 ม.ค. 2566 – นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้ตามเป้าหมายจำนวน 25 รายการ เช่น ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส ไชโป้วโพธาราม พุทรานมบ้านโพน และผ้าไหมปักธงชัย เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าท้องถิ่นไทยที่ขึ้นทะเบียน GI แล้วทั้งสิ้น 177 สินค้า สร้างมูลค่าการตลาดรวมกว่า 48,000 ล้านบาท และยังสามารถผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ในประเทศเวียดนาม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI และช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ตอบสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้า GI ได้อย่างกว้างขวางด้วย
นายสินิตย์กล่าวว่า ผลงานสำคัญอีกผลงานหนึ่ง คือ การร่วมมือกับมิชลินไกด์ประเทศไทย พาเชฟระดับมิชลิน นำโดยเชฟชาลี กาเดอร์ จากร้าน 100 มหาเศรษฐ์ ร้านอาหารอีสานที่ได้รางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ประเทศไทย และเชฟเดวิด ฮาร์ตวิก จากร้าน IGNIV Bangkok ที่ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประจำปี 2565 ลงพื้นที่คัดสรรวัตถุดิบ GI จากแหล่งผลิตในภาคอีสาน 4 สินค้า คือ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ เพื่อนำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารฟิวชันที่ผสมผสานความเป็นไทยและสากลได้อย่างลงตัว และถ่ายทอดอัตลักษณ์สินค้า GI เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ช่วยยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นไทยสู่สากล อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการนำวัตถุดิบ GI มาสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ให้นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคได้ลิ้มลอง
สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมสินค้า GI ไทยในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอีก 20 สินค้า เร่งรัดคำขอขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 15 สินค้า รวมถึงจัดงานส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทยตามแนวนโยบาย GI Plus เช่น การเผยแพร่อัตลักษณ์สินค้า GI ผ่านเมนูอาหารไทย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามทันสมัย การส่งเสริมแหล่งผลิตสินค้า GI ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างการรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการดึงทรัพยากรที่มีศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พิชัย’ ถกหอการค้าอเมริกันตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน
“พิชัย” หารือหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน หนุน ศก.ไทยเติบโต เตรียมเดินทางสหรัฐฯ ต้นกุมภาฯ เจรจาไม่ให้มีการขึ้นภาษีกับสินค้าส่งออกจากไทย
พาณิชย์เผยดัชนีค่าขนส่งสินค้าทางถนน Q4 ขยับขึ้น
ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยขณะที่อุทกภัยกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนไม่มาก
“พาณิชย์” รับลูก นายกฯ “ดูแลประชาชน” ลุยตรวจ ”ปั๊มน้ำมัน -ขนส่ง-สนามบิน“ ย้ำ ขอให้ประชาชนมั่นใจ เดินทางราบรื่นช่วงปีใหม่
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบเข้มสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ครอบคลุมทุกการเดินทางของประชาชน ทั้งการตรวจสอบมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ได้น้ำมันเต็มลิตร-เน้นย้ำผู้ประกอบการตามสถานีขนส่งปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน-
“สุชาติ” รมช. พาณิชย์ ยืนยันไม่ได้หายไปไหน เดินหน้าผลักดันส่งออก ชี้ ต้องการทำให้ FTA มีประโยชน์สูงสุด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า “ตนได้ทำงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาได้เดินหน้าทำงานต่อเนื่อง สร้างผลงานดันเจรจา FTA