เอาแล้ว 'กรุงเทพธนาคม' แจงศาลฯ สัญญาจ้าง 'บีทีเอส' ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“กรุงเทพธนาคม” เปิด5ประเด็นแจงศาลปกครอง รับสัญญาจ้าง “บีทีเอส” เดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลุ้นศาลพิจารณาคดี

17 ม.ค. 2566- รายงานข่าวจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของบริษัทฯ เข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ซึ่งกลุ่มบริษัทบีทีเอส ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรุงเทพธนาคม เพื่อให้ชำระหนี้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเงิน 10,600 ล้านบาท โดยศาลปกครองจะส่งสำเนาคำให้การของกรุงเทพธนาคมไปให้บีทีเอสเร็วๆ นี้ ตามขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงเหตุผลหักล้างกันต่อไป

สำหรับการยื่นคำให้การครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่บริษัทฯ ได้นำเรียนให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงในการจัดทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้

1. สัญญาระหว่างบริษัทฯ กับบีทีเอสนั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

2. บริษัทฯ ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ในข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) เท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้บริษัทฯ ก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจาก รมว.มท.

3 สัญญาจ้างที่บริษัทฯ กระทำกับบีทีเอสเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิเช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุฯ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจนพ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือบริษัทฯ ไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างกรุงเทพมหานครไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้

4 การที่บริษัทฯ ไปทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ

5 การฟ้องคดีของบีทีเอสในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นคดีนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

นายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยด้วยว่า คำให้การในคดีที่ 2 นี้ มีความสมบูรณ์กว่าในคดีแรก ซึ่งศาลได้ปิดสำนวนไปในช่วงที่ผู้บริหารกรุงเทพธนาคมชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่เร่งหาข้อเท็จจริงเพียง 2 เดือน ซึ่งก็เป็นไปตามคาดการณ์ว่า บีทีเอสจะฟ้องคดีใหม่มาอีก จึงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกสาร รวบรวมข้อเท็จจริงเชิงลึกโครงการกว่า 30 ปี ตลอดจนข้อกฎหมายที่รอบด้านกว่าคดีแรกอย่างมีนัยสำคัญ “เราเชื่อมั่นว่าศาลท่านจะมีข้อเท็จจริงครบถ้วนมากขึ้น ในการพิจารณาคดีที่ 2 นี้ ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่อำนาจของศาล” นายประแสง กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กเฮ! บีทีเอส-สายสีทอง-บีอาร์ที เปิดให้นั่งฟรีตลอดสาย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ โดยปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด

'บีทีเอส' แจ้งขยายเวลาบริการถึงตี 2 รับคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ผู้โดยสารเฮ รถไฟฟ้า ‘บีทีเอส – สายสีทอง’ แจ้งขยายเวลาให้บริการถึงตี 2 ในคืนส่งท้ายปีเก่า พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเข้มด้านความปลอดภัย ห้ามนำพลุดอกไม้ไฟทุกชนิด รวมถึงวัตถุที่จะก่อให้เกิดประกายไฟ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า