อัปเดต! สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” เล็งจัดพิธีแสดงสัญลักษณ์สตาร์ทโครงการฯ เชิญนายกฯ 2 ฝ่าย เป็นประธานผ่านระบบออนไลน์ คืบหน้า18.71% คาดเปิดให้บริการ ม.ค. 67 หนุนการเดินทาง-ขนส่ง-ท่องเที่ยว 2 ประเทศ
22 พ.ย.2564-รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาทว่า ในขณะนี้ กรมทางหลวง (ทล.) ได้นำเสนอให้กระทรวงคมนาคม พิจารณากำหนดให้มีพิธีเริ่มต้นโครงการ (Groundbreaking Ceremony) โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ในช่วงปลาย ธ.ค. 2564 บริเวณโครงการก่อสร้าง อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ โดยจะมีการเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝั่งไทย เช่นเดียวกับฝั่ง สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะจัดให้มีพิธีเริ่มต้นโครงการในช่วงวันที่ 27-30 ธ.ค. 2564 ซึ่งจะต้องรอสรุปความชัดเจนอีกครั้งต่อไป
ทั้งนี้ การจัดงานพิธีดังกล่าวนั้น จะปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยรูปแบบการจัดงานนั้น แต่ละประเทศจะทำพิธีที่ฝั่งประเทศของตน โดยใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอภาพเคลื่อนไหวของการดำเนินพิธีแต่ละฝั่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
สำหรับพิธีเริ่มต้นโครงการนั้น จัดขึ้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของความร่วมมือ และสัมพันธภาพที่ดียิ่งขึ้น ระหว่างประชาชน 2 ประเทศ และนับเป็นการเริ่มต้นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าแห่งใหม่ที่สะดวกสบาย กระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ จ.บึงกาฬ และเสริมสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุต่ออีกว่า โครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 การก่อสร้างถนนฝั่งไทย ระหว่าง กม.0+000-9+400 วงเงิน 831 ล้านบาท เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ธ.ค. 2565 จากข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2564 มีความคืบหน้า 29.54% เร็วกว่าแผน 3.44% ขณะที่ สัญญาที่ 2 ด่านพรมแดน ศุลกากร อุปกรณ์ต่างๆ และถนนภายในด่าน ระหว่าง กม.9+400-12+082.930 วงเงิน 883 ล้านบาท เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มี.ค. 2566 จากข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2564 มีความคืบหน้า 25.51% เร็วกว่าแผน 0.37%
และสัญญาที่ 3 งาน สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยกทางหลวงหมายเลข 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930-13+032.930 วงเงินรวม 1,263 ล้านบาท แบ่งเป็น ฝั่งไทย วงเงิน 787 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว วงเงิน 476 ล้านบาท โดยได้กู้เงินกับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. โดยในส่วนของไทย เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 พ.ย. 2566 จากข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2564 มีความคืบหน้า 9.56% ช้ากว่าแผน 4.05% สำหรับภาพรวมของโครงการนั้น ในขณะนี้ คืบหน้า 18.71% เร็วกว่าแผน 0.99% อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า โครงการดังกล่าว จะแล้วเสร็จครบทั้งฝั่งไทย และ สปป.ลาว พร้อมเปิดให้บริการภายใน ม.ค. 2567
สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) มีระยะทาง 16.18 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น ถนนฝั่งไทยยาว 13 กม. และถนนฝั่งลาวยาว 3.18 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไดสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ มุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง มุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิมและตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย และยกข้ามทางหลวง หมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร
จากนั้นจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทาง จราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาวสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ลักษณะโครงการเป็นรูปแบบทางหลวง ถนนขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร รูปแบบสะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่อง มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตรและทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว
นอกจากนี้ สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) มีความโดดเด่นด้วยงานสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ ซึ่งมีรูปแบบของโครงสร้างประยุกต์ โดยนำเสาหลักของสะพาน (Pylon) มาประยุกต์ ระหว่างสัจจะด้านโครงสร้าง และ “แคน” เครื่องดนตรีท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของประเทศไทย และ สปป.ลาว สื่อถึงความสนุก รื่นเริง เป็นมิตร ความคุ้นเคย และความเป็นกันเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมทางหลวง เผย สะพานมิตรภาพ 'บึงกาฬ-บอลิคำไซ' คืบหน้า 75%
กรมทางหลวง”กางแผนงานก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 5 “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” คืบหน้า 75% หลังน้ำโขงลดสั่งผู้รับเหมาเร่งงาน ปักหมุดเปิดให้บริการปี67 หนุนขนส่ง-ท่องเที่ยวหวังเติมโครงข่าย 'ไทย-ลาว' เชื่อมอาเซียนแบบไร้รอยต่อ
อัปเดต ‘สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว’ แห่งที่ 5 ‘บึงกาฬ-บอลิคำไซ’สร้างเสร็จเกือบครึ่งทาง
‘กรมทางหลวง’อัปเดตสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ภาพรวมคืบหน้า 47.63% คาดเชื่อมต่อพื้นที่สะพานกลางปี 66 เร่งเปิดให้บริการภายในปี 67 เร่งแก้ปัญหาฝนตกหนักทำพิษ กระทบงานก่อสร้างตอม่อใต้น้ำ ส่งชุดประดาน้ำเชื่อมกำแพงขอบตอม่อ คาดเสร็จสัปดาห์หน้า
เผยโฉม ‘สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5’ บึงกาฬ-บอลิคำไซ เชื่อมขนส่งไทย-สปป.ลาว
กรมทางหลวง โชว์‘สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5’บึงกาฬ-บอลิคำไซ มูลค่า 3.93 พันล้าน คืบหน้า 36.75% คาดก่อสร้างแล้วเสร็จ ม.ค. 67 หนุนการเดินทาง–ขนส่ง–ท่องเที่ยวเชื่อมไทย-สปป.ลาว