คมนาคม-ครม. เคาะลงนาม บีอีเอ็ม ลุย ‘สายสีส้ม’ สิ้นเดือนม.ค.

รฟม.เผยคืบหน้าร่างสัญญาสายสีส้ม 1.4 แสนล้านอัยการสูงสุดไฟเขียว จับตาเสนอบอร์ดสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ด้านบอร์ดกำชับเร่งจัดหาขบวนรถให้เร็วที่สุด หวั่นกระทบให้บริการประชาชน หลังงานก่อสร้างส่วนตะวันออกใกล้แล้วเสร็จ

13 ม.ค.2566 – นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างจัดทำร่างสัญญา ซึ่งตามขั้นตอนหากสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วเสร็จ จะต้องมีการรายงานมายังบอร์ด รฟม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้บอร์ดได้มีนโยบายด้วยว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ รฟม.ต้องดำเนินการ เพราะโครงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 อีกทั้งปัจจุบันโครงการก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 98% ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเปิดเดินรถ เพราะสัญญาเดินรถจัดรวมอยู่ในสัญญาร่วมลงทุนที่อยู่ระหว่างพิจารณาด้วย โดยเบื้องต้นทราบว่าหากมีการลงนามสัญญากับเอกชนแล้ว จะมีการทยอยจัดหาขบวนรถมาให้บริการส่วนตะวันออกโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี สอดคล้องกับเป้าหมายเปิดให้บริการเส้นทางนี้ในปี 2568

“เรื่องนี้บอร์ดเรามีนโยบายให้เร่งอยู่แล้ว เป็นเรื่องด่วนที่ต้องทำเพื่อไม่ให้กระทบบริการประชาชน โดยเฉพาะการเปิดเดินรถฝั่งตะวันออก แต่เรื่องนี้แม้จะเร่งด่วนก็ต้องทำให้โปร่งใส รอบคอบ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายว่าให้รอผลการพิจารณาตามกระบวนการศาลปกครองด้วย ซึ่งหากร่างสัญญาแล้วเสร็จ รฟม.ก็ต้องส่งเรื่องนี้ไปยังกระทรวงฯ เพื่อพิจารณาต่อ และตัดสินใจในการดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการประชุมบอร์ด รฟม.ในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ก็ต้องรอดูว่าจะมีการรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้หรือไม่”นายสราวุธ กล่าว

รายงานข่าวจาก รฟม.เผยว่า ภายหลัง รฟม.คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด ขณะนี้ รฟม.ได้จัดทำร่างสัญญา พร้อมส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ ซึ่งดำเนินการตรวจสอบและส่งกลับมายัง รฟม.เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตามโดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟม.เตรียมรายงานร่างสัญญาดังกล่าวไปยังบอร์ด รฟม. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติ เพื่อดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านประเมินสูงสุด เบื้องต้นไม่สามารถบอกได้ว่าจะลงนามตอบกรอบกำหนดในเดือน ม.ค.นี้หรือไม่ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็มีนโยบายให้รอผลการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมของศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ก่อนหน้านี้ รฟม. วางแผนเบื้องต้นจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก เดือน ส.ค.2568 ขณะที่ส่วนตะวันตก เปิดบริการเดือน ธ.ค.2570

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สุริยะ’ สั่ง รฟม. ลงโทษ ’NBM‘ เหตุประตูรถไฟฟ้าเปิดกลางทางขู่ลงดาบแบล็กลิสต์

‘สุริยะ’เอาจริง มอบ รฟม. ส่งหนังสือถึง ‘NBM’ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู จ่อดำเนินการตามบทลงโทษขั้นสูงสุด หลังเกิดเหตุประตูขบวนรถเปิดกลางทาง ลั่นไม่สามารถประนีประนอมหรือต่อรองได้ ย่ำหากไม่ปรับปรุงจ่อลงดาบแบล็กลิสต์