จับตา 'ปาล์มน้ำมัน - ยางพารา' ความต้องการลด ฉุดเกษตรกรรายได้ตกในปีนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่า ปี 2566 รายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย จะลดลง 4.7% อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปรับตัวลดลง 32.6% และ 15.8% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินค้าคงทนชะลอตัวลง และราคาพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั้งสองชนิดก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ในขณะที่รายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปประกอบอาหาร ได้แก่ อ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง คาดว่าจะยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัว 18.4% , 7.7% และ 5.4% ตามลำดับ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ปิดประเทศไปนานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

แนวโน้มรายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจปี 2566

ปาล์มน้ำมัน : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะลดลง 32.6% อยู่ที่ 0.95 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และราคาคาดว่าจะลดลง 34.6 % ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2563-2565) จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แต่ในด้านราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับลดลง เนื่องมาจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากในพื้นที่ชายฝั่งผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่งผลทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง อย่างไรก็ดี ระดับราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเมื่อ 3 ปีก่อน

ยางพารา : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะลดลง 15.8% อยู่ที่ 2.17 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตคาดว่าจะทรงตัวจากปี 2565 สำหรับราคายางพาราคาดว่าจะปรับลดลง 15.8% จากปี 2564-2565 ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.7% และ 1.5% ตามลำดับ เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นยางธรรมชาติ รวมถึงความต้องการยางพาราไปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี ปี 2566 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลทำให้ความต้องการยางพาราที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง ส่งผลทำให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง

ข้าวเปลือก : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 7.7% อยู่ที่ 3.11 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 3.4% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 4.2% โดยรายได้เกษตรกรจะได้รับผลดีจากผลผลิตข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว ประกอบกับปี 2566 ปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บน้ำจากน้ำฝนที่ตกลงในปี 2565 มีปริมาณค่อนข้างมาก ส่วนราคาข้าวเปลือกปี 2566 คาดว่าจะดีขึ้น จากความต้องการบริโภคข้าว เนื่องจากกิจกรรมการค้าและบริการกลับมาเป็นปกติ จากการเปิดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อ้อย : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 18.4% อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.6% และ 5.2% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมถึงราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือการประกันราคาอ้อยของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีวัตถุดิบอ้อยเพียงพอต่อการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น

มันสำปะหลัง : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 5.4% อยู่ที่ 0.90 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% และ 3.1% ตามลำดับ สาเหตุที่ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวโน้มราคาหัวมันสดที่เพิ่มขึ้น จูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคามันสำปะหลังคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล และความต้องการจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่มีการเปิดประเทศ

นอกจากนี้ จะพบว่าแนวโน้มปี 2566 พืชเกษตรที่นำไปใช้ประกอบอาหาร ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปิดประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกกลับเข้าสู่ระดับปกติอีกครั้ง ในขณะที่พืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลง สาเหตุจากทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่ ราคาปุ๋ยเคมี ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวน จะเป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรได้

ttb analytics แนะเกษตรกรลดต้นทุนด้วยการปรับสัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ ควรจัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูก อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนการเพาะปลูก ซึ่งสามารถนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการผลิตลง

ในขณะที่ ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ และในกรณีที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทปี 2566 ที่คาดว่าจะแข็งค่าและมีความผันผวนสูง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรควรพิจารณาบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อล็อกผลกำไรจากการขาย ซึ่งจะช่วยรักษารายได้สุทธิของเกษตรกรได้ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา...ราคายางครึ่งปีหลังสดใส ประเทศไทยประกาศพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR

ภายหลังจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ธรรมนัส"ฟันธงราคายางครึ่งปีหลังสดใส กยท.เดินหน้ากำหนดราคาอ้างอิงของไทย

“ธรรมนัส" ฟันธงราคายางในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 พุ่ง พร้อมเผย นโยบายด้านยางของรัฐบาลเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ผนวกความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น และกฎเหล็ก EUDR

โฆษกรัฐบาล เผยไทยประกาศความพร้อมทำสวนยางแบบไม่ทำลายป่า

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เข้าร่วมการประชุมโครงการห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforest-free Value Chains Roundtable

นายกฯ หารืออายิโนะโมโต๊ะพร้อมหนุนไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหาร

นายกฯ หารือบริษัท Ajinomoto เชื่อมั่นศักยภาพของไทย พร้อมลงทุนไทยต่อเนื่อง ร่วมสนับสนุนไทยสู่การเป็น Agriculture and Food Hub อย่างยั่งยืน