‘ดีอีเอส’ โชว์ผลงานโบว์แดงปี 65 ปิดกั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากกัมพูชาสำเร็จ

กระทรวงดิจิทัลฯ แถลงผลงานในปี 2565 ประสบความสำเร็จในความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขณะเดียวกันตั้งเป้าชูทุกหน่วยงานภาครัฐทรานฟอร์มสู่รัฐบาลดิจิทัล เร่งลิงค์ข้อมูลสาธารณสุขโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศผ่าน “คลาวด์กลางภาครัฐ” เล็งพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วไทย

5 ม.ค.66 – นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินโครงการที่สำคัญหลายโครงการเพื่อประโยชน์ กับประชาชนอย่างเต็มที่ ดีอีเอสประสบความสำเร็จอย่างมากในความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา เพื่อปราบปราม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ Hybrid Scam ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันระหว่างไทย และกัมพูชา โดยกระบวนการทำงานมีการตรวจสอบจากข้อร้องเรียนว่า มีคนร้ายขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อยู่ที่จุดไหน มีการร่วมกันจับกุมปรามปรามคนร้าย รวมถึงการส่งกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย ทำให้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีทราบพิกัดการกระทำผิด มีการปิดกั้นสัญญาณและเข้าจับกุม ซึ่งจะช่วยกันแก้ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดไปให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสามารถปราบปรามสิ่งผิดกฎหมายได้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ดีอีเอส ยังได้เร่งดำเนินงานในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีผ่านเครือข่ายออนไลน์ รวมถึง การส่งเสริมการพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซ สตาร์ทอัพ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัล ไอดี และ ดิจิทัลโพสต์ไอดี รองรับการพัฒนาและการให้บริการดิจิทัลอย่างยั่งยืน

สำหรับความคืบหน้าทางด้านพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น กำหนด Personal Data Protection Regulation และ Cross-Border Data Transfer ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์กับประชาชนไทยบนโลกออนไลน์ โดยหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้ ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในเวทีนานาชาติ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน การเจรจาข้อตกลงทางการค้า และความร่วมมือด้านอื่นๆ กับต่างประเทศ และสามารถลดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ผ่านออนไลน์ได้ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะออกพระราชกำหนดให้อำนาจหน่วยงานดูแลการกระทำที่มิชอบเพื่อลดการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายผ่านทางออนไลน์ด้วย

ทางด้านโครงการระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ Government Data Center and Cloud service (GDCC) นอกจากจะให้บริการ Virtual Machine สําหรับหน่วยงานภาครัฐ GDCC ยังมีบริการเสริมจำนวนมาก อาทิ AI, IoT รวมถึง Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปต่อยอด ประยุกต์ใช้งาน เพื่อพัฒนางานในการให้บริการกับประชาชน รวมถึงหน่วยงานรัฐทุกแห่งสามารถที่จะทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล 100%เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะใช้บริการภาครัฐผ่านออนไลน์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

 นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า โครงการระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ จำนวน 219 กรม 874 หน่วยงาน 3,065 ระบบงาน มีการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญมากว่า 2,500 คน ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้ถึง 30 – 60% และรัฐบาลมีแผนที่จะทรานฟอร์มทุกหน่วยงานของรัฐ เป็นรัฐบาลดิจิทัล 100% ในปี 2566 นี้ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนที่จะจัดทำระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ด้านสาธารณสุข/สถานการณ์โควิด 19, ระบบ National Digital Health Platform เพื่อเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณสุขของประชาชน และโรงพยาบาล สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านสาธารณสุข ฐานข้อมูลคนไข้ผ่านระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ทำให้แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลคนไข้เพื่อการรักษาได้จากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ดีอีเอสร่วมกับโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพัฒนา Health Link ระบบเชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาทั่วประเทศอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัย และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีการพัฒนาระบบ Data Exchange Zone ที่สามารถบริหารจัดการการดึงข้อมูลจากระบบ Hospital Information System ที่ไม่รบกวนงานหลักของโรงพยาบาล (FHIR Client, FHIR Server) ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว 150 แห่ง และอยู่ระหว่างการขยายผลอีก 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนและอนุญาตให้ Health Link ดึงข้อมูลประวัติการรักษาของตนได้อย่างสะดวกผ่านหลายช่องทาง โดยระยะแรกใช้ระบบเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย และระบบ H4U ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เมื่อประชาชนให้ความยินยอมแล้ว Data Exchange Zone ของโรงพยาบาลจะสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษา เพื่อแสดงผลให้แพทย์ที่อยู่ในทะเบียนของแพทยสภาใช้ประกอบการวินิจฉัย/รักษาได้

นอกจากนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ยังได้ร่วมมือกับ 2 พันธมิตร ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคเอกชน นำศักยภาพของทั้ง 3 หน่วยงานมาร่วมกันจัดทำ Digital Health ID เพื่อให้บริการสาธารณสุขและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแก่ประชาชน รวมทั้งพัฒนาระบบนำร่อง Health Platform ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ในส่วนของโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนนั้น ดีอีเอสได้เร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 150.6 ล้านบาท และจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 8,246 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของประชาชน นั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า การใช้ไอซีทีของประชาชนในประเทศไทยในไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า จากการสำรวจครัวเรือนประมาณ 23.4 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ 5.8 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 24.6% มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 21.1 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 89.9% และมีโทรศัพท์มือถือ 22.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 96.9% นอกกจากนี้ ยังมีผลการสำรวจประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ประมาณ 65.6 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 57.0 ล้านคน คิดเป็น 87.0% ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 62.3 ล้านคน คิดเป็น 95.0% และผู้มีโทรศัพท์มือถือ 57.7 ล้านคน คิดเป็น 88.0%

“หน่วยงานภายใต้การดูแลของ ดีอีเอส ได้ดำเนินการพัฒนาทางด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและจังหวัด จัดทำแผนส่งเสริมเศรษฐกิจรายพื้นที่ใน 76 จังหวัด ปัจจุบันทำได้ 48 จังหวัด นอกจากนี้จะมีการจัดตั้ง National Big Data Institute (NBDi) ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเตรียมเสนอแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ต่อคณะกรรมการดิจิทัลพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการดีอี) ขณะเดียวกัน มีการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ให้สามารถจดจัดตั้งบริษัท จำนวน 142 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2562 – 2565 (ไตรมาส 3) ราว 16,822 ล้านบาท ขณะที่การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ดีอีเอส ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ โดยมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทยแล้ว 30 เมือง และอีก 61 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะใน 33 จังหวัด และสร้างคนรุ่นใหม่พัฒนาบ้านเกิด (Smart City Ambassadors) 166 ราย ทำงานร่วมกับผู้แทนเมือง 201 ราย” รัฐมนตรี ดีอีเอส กล่าว

ในส่วนของการผลักดันในเรื่อง Digital ID นั้น ดีอีเอสโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA ได้ร่วมมือกับ 7 หน่วยงาน ในการจัดทำ Digital ID framework Phase 1 บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ให้สามารถใช้ Digital ID เพื่อเป็นการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งเครื่องส่งเสริมให้คนไทยเกิดการพัฒนาและเกิดการใช้งาน Digital ID เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมสากล ทั้งในมิติของกฎหมาย ได้มี ความคืบหน้า (ร่าง) พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …. ที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ รวมไปถึงการร่างกฎหมายลูกฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับโครงการดิจิทัลโพสต์ไอดีนั้น กระทรวงดีอีเอสได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล ตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (พ.ศ. 2561 – 2565) มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการระบุข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล หรือเรียกว่า “ดิจิทัลโพสต์ไอดี : Digital Post ID” โดยมอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาต่อยอดจากรหัสไปรษณีย์ที่ใช้ตัวเลขห้าหลัก ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานการจัดส่งสิ่งของของไทย มากว่า 40 ปี โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งให้มีความสามารถระบุตำแหน่งด้วยรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดี ที่สามารถถูกแปลงเป็นพิกัดที่อยู่ของประชาชนภายในประเทศไทยได้ถึงระดับครัวเรือน

พร้อมกันนี้ ยังสามารถรักษาความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ของข้อมูลส่วนบุคคลของภาคประชาชน โดย ปณท ได้ลงทุนพัฒนาระบบประมาณ 100 ล้านบาท ขณะนี้ กำลังเริ่มทดลองระบบ และคาดว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 66 และเชื่อว่าภายในปี 67 คาดว่าประชาชนจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเองที่จำได้ง่ายมาแทนการเขียนจ่าหน้าแบบเดิมพร้อมกันทั่วประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผวาหายนะ! บี้ '2พ่อลูกชินวัตร' ทบทวนพฤติกรรม บ้านเมืองไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทักษิณ คุณเป็นใคร? หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร

สส.ปชน. ถามมาตรการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้องใจ 'ทักษิณ' บอกจะช่วยจัดการ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามทั่วไป ของนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กทม. พรรคประชาชน

ผอ.ศูนย์ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ยินดี 'ทักษิณ' จะช่วยจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยภายหลังหารือกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ฝากคนสะกิดพ่อนายกฯ พูดกร่างเป็นนักเลงโตระวังเจอขาประจำ

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ