5 ม.ค. 2566 – วิจัยกรุงศรี บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับพิเศษ) โดยระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 โดยมีเนื้อหาดังนี้
ปี 2566 ฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ แต่มีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก
ในปี 2566 คาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะยังเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว การลงทุนที่ยังมีสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
อย่างไรตาม การลงทุนในบางอุตสาหกรรมและการส่งออกในภาพรวมจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวนับเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แม้ในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ หนุนให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวหลักจากจีนอาจฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 25-28 ล้านคน แม้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัวแต่ยังคงต่ำกว่า
ช่วงก่อนเกิดการระบาดอยู่มาก ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2544 ที่ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2565 รวมถึงชี้ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และราวครึ่งหนึ่งของสหภาพยุโรป (อียู) จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) คาดปริมาณการค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 จากเติบโตร้อยละ 3.5 ในปี 2565 อีกทั้ง IMF และ WTO เตือนแนวโน้มการทวนกระแสโลกาภิวัตน์อาจทวีความรุนแรงท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังพอได้ปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 24 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย โดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.7 แม้จะชะลอลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2565 ก็ตาม
ด้านการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่กระเตื้องขึ้น ตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การบริโภคของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอาจมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น และการลดลงของมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายจากภาครัฐ
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้จากการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าการลงทุนอาจเผชิญข้อจำกัดจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และภาวะต้นทุนทางการเงินที่ปรับสูงขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังมีสัญญาณเชิงบวกจากข้อมูลการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ (FDI) โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC โดยนักลงทุนให้ความสนใจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
นอกจากนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังมีความต่อเนื่องและคาดว่าจะมีโครงการใหม่เพิ่มเติม อาทิ โครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-นครพนม โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัวตามข้อจำกัดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ ก่อนเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.7 และยังคงเป็นงบฯขาดดุลใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6.95 แสนล้านบาท ขณะที่ภาระหนี้สาธารณะต่อ GDP อาจลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการลดมาตรการกระตุ้นหลังวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย
เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวซึ่งยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายนอกทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและหลายประเทศเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธปท.ได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 จึงคาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะไม่เข้มงวดมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่าธปท.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 1.75 และจะคงไว้ที่ระดับดังกล่าวตลอดจนถึงสิ้นปี
ด้านค่าเงินบาทคาดว่าจะยังคงเผชิญความผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศแกนหลักและนโยบายคุมโควิด-19 ของจีน รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วของประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 กลับมาเกินดุลได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
ประเด็นความเสี่ยงและปัจจัยท้าทายที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ ความผันผวนของตลาดการเงินและความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี ประกอบกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่าคาดจากการดำเนินนโยบายคุมโควิด-19 ความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์และผลกระทบจากการกีดกันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ขณะที่ความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ
รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนในข้อพิพาทไต้หวันที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งหากการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 ล่าช้าอาจกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ขณะที่บาดแผลจากวิกฤตโควิด-19 เช่น ภาระหนี้อาจสร้างความเปราะบางทางการเงินให้กับบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยยังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงและความไม่เท่าเทียมกันในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' ถกหัวหน้าส่วนราชการ ลุยลงทุน 9.6 แสนล้าน กระตุ้นจีดีพีประเทศ
นายกฯ ถกหัวหน้าส่วนราชการฯ กำชับผลักดันเม็ดเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน สู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น ‘จีดีพี’ ประเทศ
'อิ๊งค์' คุย กกร. ชื่นมื่น! ปลื้มอวย 'พ่อนายกฯ' แก้เศรษฐกิจเก่งสุด
นายกฯ คุย ‘กกร.’ รับข้อเสนอแก้เศรษฐกิจ จับมือเอกชนหารายได้ใหม่เข้าประเทศ ด้าน ‘สนั่น’ เชื่อมั่นรัฐบาลอิ๊งค์ พร้อมช่วยดันจีดีพีโต ชมเปาะ 'ทักษิณ' เก่งสุด