27 ธ.ค. 2565 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ของทั้งปี 2565 ใหม่ จากเป้าหมายล่าสุดที่ตั้งไว้ 1.9% มาเป็นขยายตัว 1% ขณะที่อัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม(GDP อุตสาหกรรม) ตั้งเป้าไว้ที่ 2% เนื่องจากภาพรวมของอุตสาหกรรมในช่วงเดือนสุดท้ายของปีจะชะลอตัวจากวันหยุดยาว
ทั้งนี้ MPI เดือนพ.ย. 2565 หดตัว 5.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก โดยอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวในเดือนพ.ย. 65 ยังคงเป็นยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ที่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปาล์มจากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หลังจากราคาปาล์มน้ำมันในปีก่อนปรับสูงขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงต้นและลูกปาล์ม ส่งผลให้ปีนี้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน และเครื่องปรับอากาศที่กลับมาเร่งผลิตได้อีกครั้ง
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า MPI งวดเดือน พ.ย. 65 อยู่ที่ 95.11 ขยายตัว 1.55% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.63% สำหรับภาพรวมดัชนี MPI สะสม 11 เดือนของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.68 ขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต สะสม 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 63.02% เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนี MPI ปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5 – 3.5% และ GDP อุตสาหกรรม คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงปัญหาข้อจำกัดในการผลิตได้คลี่คลายลง อาทิ ค่าระวางเรือมีทิศทางลดลง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องสามารถกลับมาเร่งการผลิตได้อีกครั้ง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ด้วยตลาดส่งออกสำคัญมีแนวโน้มจะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยจากภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงาน
นางวรวรรณ กล่าวว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมในปี 66 นั้น จะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งด้านการส่งออกและคำสั่งซื้อที่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศนั้นมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ยังต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะกระทบกับราคาสินค้าฟุ่มเฟือยได้ รวมถึงสถานการณ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่อาจจะโดนผลกระทบจากมาตรการการเก็บคาร์บอนเครดิตของกลุ่มประเทศคู่ค่า รวมถึงราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูงด้วย
“หากมีการขึ้นค่าเอฟทีในงวด ม.ค. – เม.ย. ปี 66 ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราค่าไฟที่สูงขึ้น จะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า , ซีเมนต์ , สิ่งทอ , ผลิตภัณฑ์คอนกรีต , เครื่องแต่งกาย และเซรามิค” นางวรวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนพ.ย. 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.95% , น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.47% , เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.57% , เบียร์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.95% , ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.08%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท
สุริยะสั่งฟ้องเขากระโดง ‘ที่ดิน’ยันยึดคำพิพากษา
ปมเขากระโดงยังไม่จบ “สุริยะ” ย้ำที่ดินพิพาทเป็นของ รฟท.
'สุริยะ'ประชุมบอร์ด'กกท.' สลับเก้าอี้'3รองผู้ว่าฯ' 'โปรดปราน'คุมกีฬาอาชีพฯ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ครั้งที่ 5/2567 โดยมี ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. และคณะกรรมการฯ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567