'บินไทย' ปลื้มทำรายได้ทะลุ1.2หมื่นล้านต่อเดือน

“การบินไทย” เผยท่องเที่ยวฟื้นตัวทำรายได้นิวไฮทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ดันกระแสเงินสดในมือพุ่ง 3 หมื่นล้านบาท ชี้ความจำเป็นจัดหาทุนใหม่หวังพ้นสภาพฟื้นฟูกิจการ กลับซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนเป้าหมายกำหนดในปี68

22 ธ.ค. 2565 – นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในปัจจุบัน โดยระบุว่า ขณะนี้ผู้โดยสารของการบินไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวของทั่วโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ซึ่งปัจจุบันการบินไทยกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินราว 70% หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) สูงอยู่ที่ 85%

อย่างไรก็ตาม จากการฟื้นตัวของผู้โดยสารส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานของการบินไทย กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยปัจจุบันมีความสามารถทำรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีรายได้จากการดำเนินงานราว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และถือเป็นรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงเกิดโควิด-19 ที่การบินไทยมีรายได้ต่ำสุดจากการดำเนินงานเพียง 200 ล้านบาทต่อเดือน

“ตอนนี้รายได้จากการดำเนินงานของเราเป็นนิวไฮในทุกเดือน โดยการบินไทยเริ่มมีกำไรตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 ซึ่งเกิดขึ้นจากการปรับต้นทุนการบริหารงาน ค่าใช้จ่ายในทุกส่วน และยังหารายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อหักลบกับช่วงต้นปี ก่อนการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของการบินไทยในขณะนี้ยังไม่ทำกำไร แต่ถือว่าขาดทุนลดลงอย่างมาก”นายสุวรรธนะ กล่าว

นายสุวรรธนะ กล่าวว่า การฟื้นตัวของผู้โดยสารยังส่งผลให้กระแสเงินสด (แคชโฟว์) ของการบินไทยเพิ่มขึ้นสูงอยู่ที่3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเพียงพอในการบริหารจัดการองค์กร ส่งผลให้การบินไทยไม่ได้มีความเร่งด่วนในการจัดหาเพิ่มทุนใหม่ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้องค์กรยั่งยืนและสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ การบินไทยยังคงต้องดำเนินการจัดหาทุนใหม่จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ตามรายละเอียดที่ยื่นปรับปรุงแผนฟื้นฟูฉบับล่าสุด

สำหรับแผนฟื้นฟูฉบับล่าสุดที่ศาลล้มละลายได้อนุมัติให้การบินไทยปรับปรุงนั้น จะต้องดำเนินการจัดหาทุนใหม่ตามกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างเตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อเข้ามาช่วยดำเนินการในส่วนนี้
ทั้งนี้ การจัดหาเงินทุนใหม่ระยะเร่งด่วนที่การบินไทยวางแผนไว้ คือวงเงินราว 12,500 ล้านบาท เพื่อนำวงเงินดังกล่าวมาเสริมสภาพคล่อง และคาดว่าเริ่มเงินส่วนนี้ใช้ในปี 2566 โดยทาง FA จะเป็นส่วนช่วยวิเคราะห์ในการทำแผนจัดหาวงเงินทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นจะจัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ตามแผนฟื้นฟู การบินไทยยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย และยังต้องดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก เพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง

นายสุวรรธนะ กล่าวต่อว่า การบินไทยตั้งเป้าหมายส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อย่างเร็วที่สุด ซึ่งอาจจะเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในปี 2568 เพราะแนวโน้มการดำเนินงานในขณะนี้เป็นไปด้วยดี การบินไทยมีความสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับการกลับไปซื้อขายหลักทรัพย์ จะต้องเพิ่มทุนได้ และมีสภาพทำกำไรได้ดีต่อเนื่อง

เพิ่มเพื่อน