19 พ.ย. 2564 – ธุรกิจประกันถือว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความมั่นคงทางการเงินค่อนข้างสูง แต่หลังจากที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ที่การติดเชื้อยังไม่รุนแรง ทำให้มีการออกผลิตภัณฑ์ “เจอ จ่าย จบ” กันเป็นจำนวนมาก หลายๆ บริษัทโกยกำไรกันอย่างอู้ฟู่ แต่เมื่อสถานการณ์พลิกกลับ ปี 2564 มีการระบาดที่รุนแรงมาก และคนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเคลมประกันอัตราสูงมาก รายได้และกำไรเริ่มลดลง ดูได้จากในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 นั้น พบบริษัทประกันวินาศภัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 15 บริษัท มีถึง 10 บริษัทที่ต้องเผชิญการขาดทุน
ประกอบด้วย สินมั่นคงประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย, เครือไทย โฮลดิ้งส์, ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ไทยรับประกันภัยต่อ, นำสินประกันภัย, นวกิจประกันภัย, บางกอกสหประกันภัย, จรัญประกันภัย, ไทยเศรษฐกิจประกันภัย รวมขาดทุนสุทธิ 5,782 ล้านบาท
กลุ่มประกันชีวิตอู้ฟู่
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มประกันชีวิตที่ดูเหมือนผลประกอบการจะดูอู้ฟู่เช่นเดิม เริ่มจาก บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต หรือ BLA ในช่วง 9 เดือนปี 2564 กำไรสุทธิ 2,922 ล้านบาท เพิ่มขึ้น102.3% และเบี้ยประกันรับรวม 27,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ซึ่งนายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BLA กล่าวว่า ไตรมาส 3/64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ด้าน นายโทมัส วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่า “ไตรมาส 3 ปี 2564 ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถสร้างผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 22,801 ล้านบาท เติบโตที่ 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับปีแรกเติบโต 7% อยู่ที่ 4,417 ล้านบาท
สำหรับการให้ความคุ้มครองคนไทยในสถานการณ์โควิด-19 บริษัทมีการจ่ายเคลมตามกรมธรรม์จากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันไปแล้วกว่า 15,000 เคส เป็นเงินรวมกว่า 820 ล้านบาท โดยประมาณ 13,800 เคส เป็นค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยจากโควิด-19 และประมาณ 940 เคส เป็นการชดเชยจากการแพ้วัคซีน และประมาณ 280 เคส มาจากการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 จนถึงปีหน้า อลิอันซ์ อยุธยา ยังคงมองอนาคตในเชิงบวก
นางโสภา กาญจนรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ฟอลคอนประกันภัย กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2564 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,195 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเติบโตสูงกว่าภาพรวมของตลาดประกันวินาศภัยซึ่งเติบโต 3%
เช่นเดียวกับ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TQM ซึ่งนายอัญชลิน พรรณนิภา ประธาน TQM กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/64 กำไรสุทธิ 241.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาสที่แล้ว โดยไตรมาสนี้มีรายได้รวม 851.9 ล้านบาท บริษัทยังคงสร้างผลประกอบการที่ดีได้ยอดขายโตตามเป้าในทุกช่องทาง นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังมีมติขอผู้ถือหุ้นแตกพาร์หุ้น TQM เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดให้มากขึ้น เหลือ 0.50 บาท จากเดิม 1 บาท เพิ่มมูลค่าหุ้นจาก 300 ล้านหุ้น เป็น 600 ล้านหุ้น เพื่อเดินหน้าลงทุนในธุรกิจใหม่ ในนาม บริษัท ทีคิวซี จำกัด หรือ ‘TQC’ ให้บริการบริหารสินไหมประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ แก่บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต เพิ่มศักยภาพการให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจร รวมถึงร่วมทุนในธุรกิจของบริษัท ทรู ไลฟ์ โบรกเกอร์ จำกัด, บริษัท ทรู เอ็กซ์ตร้า โบรกเกอร์ จำกัด และการเข้าถือหุ้นใน บมจ.บลูบิค กรุ๊ป ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้ของกลุ่มบริษัทให้ผลงานเติบโตสูงสุดต่อเนื่องถึงไตรมาส 4
ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่บุกตลาด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง ธุรกิจประกันก็ยังคงเดินหน้าออกผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการของตลาด อย่าง บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต หรือ MTL จับกระแสออนไลน์ พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ‘MTL MyFund’ ต่อยอดการบริหารความมั่งคั่ง เข้าถึงทุกข้อมูลจัดการกองทุนสำหรับลูกค้า และพอร์ตการลงทุน แนะนำโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ติดตามความเคลื่อนไหวพอร์ตการลงทุนได้ด้วยตัวเอง พร้อมข้อมูลกองทุนรวมคุณภาพจาก 12 บลจ.ชั้นนำได้ในที่เดียว สะดวก ปลอดภัย ตอกย้ำจุดยืนผู้นำด้านการวางแผนการเงินแบบครบวงจร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ตัวแทนเมืองไทยประกันชีวิต หรือ Call Center 1766
ส่วน บมจ.เมืองไทยประกันภัย หรือ MTI ผนึก ออราเคิล เสริมแกร่งโซลูชั่น Oracle Fusion Cloud ERP ตอบโจทย์ความต้องการองค์กรแห่งโลกดิจิทัลขับเคลื่อนคลังข้อมูลเมืองไทยประกันภัยสู่ระบบคลาวด์อัตโนมัติ พร้อมลดต้นทุน และความเสี่ยงด้านการเงิน
นางปุณฑริกา ใบเงิน กรรมการรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส MTI กล่าวว่า การนำคลาวด์โซลูชั่นมาใช้งานภายในบริษัทนั้น ช่วยส่งเสริมการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และยังช่วยลดต้นทุนรวมในการใช้จ่ายด้านการดูแลระบบเดิม อาทิ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบงาน Total cost of ownership ซึ่งอาจมีแนวโน้มลดลงเมื่อมีการใช้งานไปในระยะยาว
ด้าน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ร่วมกับ เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต เดินหน้าออก 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มความคุ้มครองให้ครอบคลุมภายใต้สัญญาประกันชีวิต ตอกย้ำความเป็นผู้นำที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ กับ “KKPGEN CI CARE PLUS” สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครอง 32 โรคร้ายแรง และ “KKPGEN HB CARE PLUS” สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวันกรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาล สูงสุด 4,000 บาทต่อวัน
บมจ.ธนชาตประกันภัย พร้อมดูแลลูกค้าเอเชียประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องไม่สะดุด เพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้าด้วยศักยภาพความพร้อมในทุกด้าน ทั้งความมั่นคงของฐานะทางการเงิน การดูแลใส่ใจงานบริการหลังการขาย โดยเฉพาะ 3 บริการพิเศษ ทั้ง Line Service “ธนชาตประกันภัย” ที่สามารถทำธุรกรรมทุกอย่างได้ผ่านไลน์ บริการ Meet and Care ผู้ช่วยส่วนตัวดูแลงานซ่อมรถแทนลูกค้า และอู่สีส้มที่มีมาตรฐานในคุณภาพงานซ่อมรถ รวมไปถึงรางวัลการันตีในความเชี่ยวชาญ โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครง่ายๆ ใน 2 ขั้นตอน จาก 2 ช่องทางออนไลน์ที่สะดวก ทั้งเว็บไซต์ www.thanachartinsurance.com หรือ Line Official Account “ธนชาตประกันภัย” ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
และ บมจ.พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) เปิดตัวบริการพิเศษใหม่ “กู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ ผ่านช่องทางดิจิทัล” ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในเรื่องการเงิน และเพิ่มเติมความอุ่นใจให้ลูกค้าสามารถจัดการเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตไปด้วยกัน ซึ่งลูกค้าที่ต้องการกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์สามารถยื่นเรื่องขอกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ PRUConnect ที่บัญชี LINE Official Account Prudential ได้ทุกวัน ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารทางการเงิน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คปภ.เผยธุรกิจประกันภัยชีวิต-วินาศภัยยังมีเสถียรภาพรับวิกฤตในระยะ 3 ปี
คปภ. เผย 5 อันดับความเสี่ยง จากมุมมองภาคธุรกิจประกันภัยไทย“ชีวิต-วินาศภัย” ประสานเสียง “มั่นใจ ระยะ 3 ปี” ยังมีเสถียรภาพรับมือสถานการณ์ต่างๆได้
ชู 6 แนวทางหนุนประกันปรับตัว
จากสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ซึ่งพบว่าช่วงที่ผ่านมามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับผู้ประกอบการ
'อาคม' ชู 6 แนวทางหนุนธุรกิจประกันภัยปรับตัว
“อาคม” ชู 6 แนวทางหนุนธุรกิจประกันภัยปรับตัวยกระดับรับสถานการณ์หลังโควิด-19