‘เวิลด์แบงก์’ หั่นจีดีพีไทยปี 66 เหลือโต 3.6%

“เวิลด์แบงก์” หั่นจีดีพีไทยปี 2566 เหลือ 3.6% หวั่นเศรษฐกิจโลกชะลอทุบอุปสงค์สะดุด กระทบส่งออกไทยหนัก มองเศรษฐกิจไทยเดินหน้าฟื้นตัวแต่รั้งท้ายภูมิภาค เหตุพึ่งพาการท่องเที่ยวหนัก ชี้หลังหมดมาตรการช่วยเหลือทำคนจนปีนี้ปะทุเพิ่ม 6.6% เงินเฟ้อสูงกดดันไม่หยุด ด้าน “อาคม” รับถึงเวลาปรับมาตรการช่วยเหลือแบบหว่านแห่ เน้นพุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เดินเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ มุ่งสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล

14 ธ.ค. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวเปิดงาน “Thailand Economic Montior Distributional Impact of Fiscal Spending and Revenue” ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการคลังในการช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่นโยบายการเงินก็มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญ ทำให้รัฐบาลสามารถใช้นโยบายการคลังในแง่ของการช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง อาจจะต้องมาวิเคราะห์ดูมาตรการต่าง ๆ ที่ถือเป็นรายจ่ายที่รัฐบาลได้จ่ายไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยนโยบายการคลังอาจไม่สามารถใช้แบบกระจายได้เหมือนเดิม ต้องปรับมาเป็นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

“การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ผ่านนโยบายการคลังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 อาจจะไม่เหมาะที่จะใช้ดำเนินการในปีต่อ ๆ ไปในระยะข้างหน้า เพราะเมื่อไทยมีการเปิดประเทศ ภาพรวมการท่องเที่ยวดีขึ้น รายได้ต่าง ๆ ดีขึ้น ก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายแบบปกติ โดยเฉพาะการเดินหน้าเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล หลังจากที่ไทยขาดดุลงบประมาณมานาน จนส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะในระยะยาว” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า หลังจากนี้มีปัจจัยที่ท้าทายสำหรับนโยบายการคลัง คือการช่วยรักษาและลดแรงกดดันด้านราคาสินค้า จากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจะต้องพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 5.5% ทำให้เชื่อว่าสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดเรียบร้อยแล้วและหลังจากนี้จะทยอยลดลงจนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ และหวังว่าภายในสิ้นปี 2565 อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ไม่เกิน 6% ซึ่งถือเป็นระดับที่น่าพอใจ ไม่ได้สูงเหมือกับหลายประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันต้องดูเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อนำมาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

สำหรับการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนและทั่วหน้านั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญผ่านการนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดถือเป็นความท้าทายในการนทำโครงการและมาตรการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมและการพัฒนาอย่างทั่วหน้า โดยรัฐบาลได้มีการปรับปรุงใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านนวัตกรรมและดิจิทัล ผ่านการดำเนินมาตรการทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี 2. การพัฒนาทักษะแรงงาน และ 3. การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.4% ขณะที่ปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.7% จากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดเร็วกว่าที่คาด ซึ่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นปัจจัยบวกหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ในไตรมาส 3/2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ส่งผลให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับไปสู่การเติบโตก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้เร็วขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ยังตามหลังประเทศอื่นในอาเซียน เช่น เวียดนาม ที่มีการฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะที่สุดในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ในปี 2567

ทั้งนี้ คาดว่าในปีหน้าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวก ขณะที่หนี้สาธารณะได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ที่ระดับ 61.1% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 2565 แต่ก็ยังมีแรงกดดันเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ก่อนที่จะชะลอตัวลง โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงมานาน อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่การคลังลดลง

สำหรับการดำเนินมาตรการทางการคลังจะช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤติที่มีต่อสวัสดิการของครัวเรือนได้อย่างมาก แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็คาดว่าความยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% ในปีนี้ จาก 6.3% ในปี 2564 เนื่องจากมาตรการบรรเทาผลดกระทบของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น อาจทำให้พื้นที่ทางการคลังลดลง เว้นแต่จะมีการนำมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมาใช้มากขึ้น

“เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้จ่าย ในขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงผลกระทบของนโยบายการคลัง ในด้านการกระจายความเท่าเทียม และเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งความพยายามในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการ” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

ด้านนายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังกลับเขข้าสู่เส้นทางการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงหลังจากการระบาดของโควิด-19 การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และเพื่อรองรับผลกระทบด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' งง รอมา 2 เดือน นโยบายกระตุ้นศก.ไม่มีอะไรชัดเจน ย้อนถามแจกเงินหมื่นช่วยอะไรได้

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า