‘สภาพัฒน์’ เผยท่องเที่ยวคึกคักหนุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น

‘สภาพัฒน์’เผยไตรมาส 3/65 ท่องเที่ยวคึกคักหนุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานลดลงเหลือ พบหนี้สินครัวเรือนโดยรวมลดลง แนะเฝ้าระวังการเพิ่มของ NPL และการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน

14 ธ.ค.2565-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2565 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 3  ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัว 4.3% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เนื่องจากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตามขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรยังคงหดตัวที่ -2.4% เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ที่ผ่านมา

สำหรับชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 3/2565 พบว่า แรงงานในภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงาน 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงไตรมาส 3/2562 หรือช่วงก่อนเกิดโควิด สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.8 ล้านคน ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 1.9 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหรือไตรมาส 2/2565 ที่มีผู้เสมือนว่างงาน 2.2 ล้านคน

ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์ด้านชั่วโมงการทำงานของแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ เมื่อพิจารณาในด้านค่าจ้างแรงงาน พบว่าค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในภาพรวม ในช่วงไตรมาส 3/2565 หดตัว -3.1% จากปัญหาเงินเฟ้อ

ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 1.23% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.9 แสนคน ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 ในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนหรือผู้จบการศึกษาใหม่ 2.6 แสนคน และเมื่อแยกตามระดับการศึกษา ยังคงพบว่าผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 1.85 แสนคน ซึ่งกว่า 60% เป็นผู้จบการศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจ

สำหรับประเด็นด้านแรงงานที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การดูแลภาระครองชีพของแรงงาน เพราะแม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานในระบบไปแล้ว แต่แรงงานนอกระบบที่มีสัดส่วนประมาณ 50% ของแรงงานทั้งหมด ยังมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพอยู่ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาไม่สูงนัก ซึ่งมีสัดส่วน 84.2% และเป็นกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อย 

2.การเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะเกษตรกรยากจนและ3.การสนับสนุนให้ผู้ว่างงานเข้าสู่ระบบอบรมและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว

สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีที่ 88.2% ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาก่อนก่อน แต่พบว่าสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ มีการขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แม้ว่าการขยายตัวของสินเชื่อส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงแทบทุกสินเชื่อ แต่สินเชื่อบัตรเครดิตและและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับฯ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตมีอัตราการการขยายตัวเร่งตัวขึ้นมาก โดยขยายตัว 8.8% ในช่วงไตรมาส 2/2565 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.5% ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นการใช้เงินล่วงหน้า เพื่อทำให้การใช้เงินในอนาคตลดลง” นายดนุชา กล่าว

อย่าลืมขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่า สัดส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.62% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.69% อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ต้องติดตามเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.สัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน

2.กลุ่มลูกหนี้อายุ 41 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ 3.ลูกหนี้ที่หนี้กลายเป็น NPLs จากผลกระทบของโควิด-19 ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสที่ 2/2565 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 จำนวน 4.3 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 3.96 แสนล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 จำนวน 2.7 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 2.2 แสนล้านบาท 4.ภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง 5.ในช่วงถัดไปครัวเรือนที่ประสบปัญหาอุทกภัย มีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และ 6.อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“เรื่องหนี้ครัวเรือน คงต้องเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ต่างๆ โดยเฉพาะสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาจากผลพวงของโควิด-19 และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นผู้สูงอายุ การมีมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม และครัวเรือนได้รับผลกระทบจากโควิด รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน” นายดนุชา กล่าว

อย่างไรก็ตามส่วนกรณีที่มีบางพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียง โดยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันนั้น มองว่า ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งสิ่งที่รัฐทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ พยายามทำปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับทักษะฝีมือของแรงงาน ดังนั้น หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องปรับค่าแรงสำหรับแรงงานฝีมือขึ้นไปด้วย เพื่อให้เกิดส่วนต่าง ระหว่างคนที่มีทักษะกับคนที่ไม่มีทักษะ แต่ภาระก็จะตกไปอยู่กับผู้ประกอบการ

“ผู้ประกอบการก็ต้องดูให้ดีว่า รับไหวหรือเปล่า ถ้ามีการปรับขึ้นจริง ภาคอุตสาหกรรม ก็คงปรับไปใช้หุ่นยนต์ แล้วก็จะพันมาเรื่องการปลดคนงาน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ คิดว่าเราน่าจะไปเน้นเพิ่มทักษะของแรงงานให้สูงขึ้น หากเป็นค่าใช้จ่ายตรงนั้น คิดว่าเอกชนรับได้” นายดนุชากล่าว

สำหรับการปรับเงินเดือนเด็กจบใหม่ ถ้าขึ้นเงินเดือนก็จะกระทบทั้งเอกชนและภาครัฐ อย่างคราวที่แล้วที่ขึ้นมาเป็น 15,000 บาท รัฐบาลก็ต้องปรับฐานขึ้นมา ก็เป็นภาระงบประมาณ ตอนนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ผลพวงที่เกิดจากวิกฤตโควิด ยังมีข้อจำกัดในแง่ฐานะการคลัง ก็ต้องดูในแง่วินัยการเงินการคลังที่จะต้องเคร่งครัดในช่วงถัดไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สภาพัฒน์' สั่งจับตาหนี้เสีย แนะแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้

‘สภาพัฒน์’เผยหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นมาที่ 2.99% เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ แนะจับตาประเด็นการกู้เงินนอกระบบบนโซเชียลมีเดีย ส่วนอัตราว่างงานไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.07% เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังฟื้นตัวจากโควิด

สภาพัฒน์ เตรียมชงครม.อุ๊งอิ๊ง จัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงการเดินหน้า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยจะต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร หากรัฐบาลดำเนินมาตรการนี้ต่อก็จะต้องดูว่ามีการปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน จากเดิมที่มีข้อเสนอสำคัญไป 2 เรื่อง คือ แหล่งที่มาของเงิน จากงบประมาณปี 67 ที่มีการใช้จ่ายแล้ว และงบประมาณปี 68 ที่จะเข้ามาวันที่ 1 ตุลาคมนี้