กนอ. ลุยกิจการท่าเทียบเรือสาธารณะขนถ่ายสินค้าเหลว

กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแบบ PPP กับ ไทยแท้งค์เทอร์มินัล ลุยกิจการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว และคลังเก็บสินค้าเหลว ระยะเวลาการให้สิทธิ 30 ปี หลังครม. เห็นชอบการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ

13 ธ.ค. 2565 – นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนโครงการแรก ที่ กนอ. ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว และคลังเก็บสินค้าเหลว บริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีเนื้อที่โครงการรวม 182.1535 ไร่

ซึ่งบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด เป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอร่วมลงทุน ในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยเอกชนได้รับสิทธิในการประกอบกิจการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว และคลังเก็บสินค้าเหลว พร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่โครงการ ระยะเวลาการให้สิทธิ 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา และจัดสรรผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง

“โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ถือเป็นโครงการร่วมลงทุนที่ 2 ที่ กนอ. ลงนามในสัญญาร่วมทุนฯ ถัดจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โดยบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการท่าเรือมากกว่า 30 ปี กนอ. จึงเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทฯ ในการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของประเทศไทยไปสู่ประตูเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีการเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยเงื่อนไขมูลค่าการลงทุนภายใน 30 ปีข้างหน้า เราต่อรองได้มากกว่าที่ ครม.กำหนด จาก 10,600 ล้านบาท เป็น 14,881 ล้านบาท ถือเป็นความสำเร็จของคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารพื้นที่รองรับสินค้าเหลว ที่เชื่อว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายวีริศ กล่าว

อย่างไรก็ตามการลงนามในครั้งนี้ กนอ. จะให้สิทธิการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวและคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหลว เนื้อที่โครงการรวม 182.1535 ไร่ พร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่โครงการ ระยะเวลาการให้สิทธิ 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา โดยบริษัทฯ มีหน้าที่บำรุง รักษา และซ่อมแซมถังกักเก็บสินค้าเหลว จำนวน 102 ถัง (ถังเก็บแบบตั้งบนดิน On Ground) และถังกักเก็บของเสีย (Slop Tank) จำนวน 5 ถัง

รวมถึงงานก่อสร้างทดแทนถังกักเก็บสินค้าเหลวข้างต้น เพื่อรักษามาตรฐานของถังกักเก็บสินค้าเหลวให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ราชการกำหนด สามารถรองรับปริมาณสินค้าเหลวได้ไม่ต่ำกว่า 723,000 ลูกบาศก์เมตรตลอดระยะเวลาโครงการ และให้มีการลงทุนเพิ่มพร้อมออกค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการตลอดระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 14,881 ล้านบาท โดย กนอ. จะได้ผลตอบแทนตลอดระยะเวลาโครงการเป็นเงินมูลค่ารวม 20,236.68 ล้านบาท ทั้งนี้ ครม.กำหนดให้มีการเจรจาเพื่อเพิ่มสัดส่วนของบริษัทไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันบริษัทไทยมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่ผ่านมา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘วีริศ’ ลุยงานตรวจความคืบหน้าโครงการรถไฟสายอีสาน

‘วีริศ’ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม พร้อมรับรับฟังความคืบหน้าโครงการ ในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ มอบผู้บริหารร่วมกันวางแผนการใช้ประโยชน์จากโครงการต่างๆ ให้คุ้มค่าสูงสุด ย้ำเร่งผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางของไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน

'กนอ.'โชว์ยอดขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมฯ สร้างสถิตินิวไฮ 2 ปีติด

“วีริศ” โชว์ยอดขายและเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ทุบสถิติใหม่ (New High) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มั่นใจประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เชื่อแคมเปญ “NOW Thailand” ตอกย้ำศักยภาพประเทศ ในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

'พิมพ์ภัทรา' นำทีมบุกญี่ปุ่น ศึกษาโมเดล 'นิคมอุตสาหกรรม Circular' มาปรับใช้กับไทย

“พิมพ์ภัทรา”นำทีมเยือนญี่ปุ่น 21 - 27 กรกฎาคม 2567 ปักหมุดดูงานพัฒนาการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม Circular” พร้อมหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทย ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน