'หอการค้า' ฟันธงจีดีพีปีนี้โตไม่ต่ำ 1.5% ชี้ Q4 เงินจ่อเข้าระบบ 3 แสนล.

“หอการค้า” คาดไตรมาส 4/64 มีเม็ดเงินจ่ออัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจอีก 3 แสนล้านบาท ชี้เปิดเมืองหนุนเชื่อมั่นฟื้น ฟันธงจีดีพีปีนี้โตไม่ต่ำ 1.5% เชื่อมือรัฐบาลคุมโควิด-19 อยู่หมัด การันตีปี 65 เศรษฐกิจพุ่ง 4.2% อานิสงส์ท่องเที่ยวตื่น โกยรายได้ 3 แสนล้านบาท ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยยังหนัก หลังประชาชน-ภาคธุรกิจยังไม่หลุดบ่วงกู้เงิน

18 พ.ย. 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.5% ภายใต้กรอบ 1.3-1.7% ขณะที่ส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 16.5% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้รัฐบาลมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์และปิดเมือง แต่เชื่อว่าภายหลังจากมีการเปิดประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งภาคธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2/2565 เป็นต้นไป ก่อนจะขยายตัวได้โดดเด่นขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

ทั้งนี้ มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2564 จะขยายตัวได้ที่ 2.1% ภายใต้กรอบ 2-3% เนื่องจากการคล้ายล็อกดาวน์จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยและช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวขึ้น โดยประเมินว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 2.5-3 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการคลายล็อกดาวน์ ช่วยให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ เดือนละ 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนจีดีพี 0.83% ขณะที่ภาครัฐจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 และมาตรการอื่น ๆ รวม 1-1.5 แสนล้านบาท และยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกราว 1.2 หมื่นล้านบาท ที่จะเข้ามากระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

“ปีนี้มีโอกาสที่จีดีพีจะโตได้มากกว่า 1.5% และไม่มีเหตุผลเลยว่าจีดีพีในปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่า 1.3% หากการส่งออก ท่องเที่ยวยังเติบโตได้โดดเด่น และรัฐมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเข้ามา ขณะที่สถานการณ์หลังเปิดประเทศแล้ว ก็ยังไม่เห็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงจากต่างชาติ สะท้อนว่ารัฐบาลยังดูแลและป้องกันสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยการระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์ภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง สร้างความมั่นใจให้กับต่างชาติ โดยประเมินว่าจนถึงสิ้นปี 2564 รัฐบาลจะสามารถกระจายวัคซีนได้เกือบ 70% ของประชากรทั้งหมด และแอบหวังว่าภายในปลายเดือนนี้จะสามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำกว่า 5 พันคนต่อวัน และภายในปลายปีเหลือ 2-3 พันคนต่อวันได้ โดยจากปัจจัยทั้งหมดยังไม่มีหลักคิด หรือสมมุติฐานว่าจะมีการล็อกดาวน์ในไตรมาส 4/2564 และปี 2565 ทำให้คาดว่าในปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวได้โดดเด่นที่” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4.2% ภายใต้กรอบ 3.6-4.5% โดยพระเอกยังมาจากภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 5.4% ซึ่งการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดีจะช่วยสร้างโอกาสในการมีงานทำของภาคแรงงานให้เพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ แต่คงไม่โดดเด่นเท่าภาคบริการ จากการเปิดประเทศ ที่คาดว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน สร้างรายได้ 3 แสนล้านบาท ขณะที่ธุรกิจกลางคืนก็จะกลับมาเปิดดำเนินการได้ การระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะเบาบางลง หรือหากมีการระบาดในระลอกที่ 5 ก็เชื่อว่าจะไม่รุนแรง และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่มีการล็อกดาวน์ ขณะที่การกระจายของโควิด-19 ทั่วโลกจะไม่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยบวกต่าง ๆ ทำให้เชื่อว่าในไตรมาส 1/2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียง 4% ขณะที่ไตรมาส 2/2565 จะขยายตัวที่ 2.1% จากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจะนั้นจะเริ่มฟื้นตัวได้โดดเด่นในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นปัญหาสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คือ สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 94.1% จากปีนี้จะอยู่ที่ 92.6% แม้ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 ก็ตาม แต่ระหว่างนั้นภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังอยู่ด้วยระบบการกู้ยืม และปัญหาที่พบคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือผ่านมาตรการซอฟท์โลน และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันซึ่งจะเป็นประโยชน์มากที่สุด

ขณะที่การประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมใน 44 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 4.4 ล้านไร่ คาดว่าจะสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2.24 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.14% ของจีดีพี

เพิ่มเพื่อน