“อาคม” กร้าวเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว การันตีจีดีพีปีนี้โตแน่ 3.2% ส่วนปี 2566 ทะยานแตะ 3.8% จับตาส่งออก 2 เดือนสุดท้าย พร้อมลุยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ปักหมุด 5 ปี รายได้ต่อจีดีพีพุ่งแตะ 16%
8 ธ.ค. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand Insights 2023 : Unlocking the Future” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า แต่โดยรวมเศรษฐกิจไทยก็ยังฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี โดยในไตรมาส 3/2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึง 4.5% หลัก ๆ เป็นผลมาจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้น
“การท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยคาดว่าภายในวันที่ 10 ธ.ค. นี้ เราจะได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย แตะ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย โดยคิดเป็น 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าตัวเลข 10 ล้านคนจะยังไม่ถือว่าเยอะมาก แต่ก็มีแง่ดีคือ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้มากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจก็เริ่มจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังโควิด-19 เช่นกัน” นายอาคม กล่าว
ขณะที่ภาพรวมการลงทุนถือว่าขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทต่างชาติประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม ซึ่งปัจจัยเสริมต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่มองว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนปีหน้าการเติบโตจะเร่งตัวมากขึ้นและเติบโตได้อย่างมั่นคง ส่วนกระทรวงคลังเอง คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.2% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.8% โดยสถานะทางการคลังยังคงแข็งแกร่ง
สำหรับสถานการณ์การส่งออกที่เริ่มมีการชะลอตัวนั้น มองว่า ยังคงต้องติดตามตัวเลขการส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ด้วย เพราะอาจจะยังมีออเดอร์ส่งออกที่ยังรอดำเนินการอยู่ รวมทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจที่มีแนวโน้มกำลังซื้อชะลอตัวลง ว่าจะมีผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยมากน้อยแค่ไหน
นายอาคม กล่าวอีกว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจถดถอยซึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงิน ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและลดภาระของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย และกลุ่มเอสเอ็มอี จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ผ่านนโยบายหรือมาตรการแบบพุ่งเป้าหมายมากขึ้น เช่น การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม และราคาพลังงานต่าง ๆ การลดภาระค่าน้ำประปาและไฟฟ้า เป็นต้น และการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการหาแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินและการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย
สำหรับการดำเนินนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจในปีหน้านั้น มองว่า นโยบายการเงินและนโยบายด้านการคลังต้องประสานกัน โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำงานอย่างใกล้ชิด และเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานการ เพื่อทำให้เป้าหมายด้านเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ซึ่งมีการยืนยันชัดเจนว่าจะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ขณะเดียวกันนโยบายด้านการคลังก็จะดำเนินการอย่างพุ่งเป้าหมายมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และต้องทำให้เกิดความมั่นคงและมีเสถียรภาพด้านการคลังด้วย
“รัฐบาลใช้นโยบายด้านการคลังในการช่วยเหลือประชาชนช่วงการระบาดของโควิด-19 อย่างมาก ดังนั้นหลังสถานการณ์คลี่คลายลงก็ต้องมาดูเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ซึ่งรัฐบาลมีแผน 5 ปี ในการเพิ่มรายได้ต่อจีดีพีเป็น 16% จากปี 2564 รายได้ต่อจีดีพี อยู่ที่ 14.9% โดยจะต้องมีการปรับปรุงในหลายส่วน ทั้งการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล งบรายจ่ายประจำ และงบลงทุน โดยเฉพาะงบลงทุนที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงอัตราส่วนเงินลงทุนต่อจีดีพีประเทศ เพื่อให้มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากขึ้น โดยแนวทางหนึ่งคือการกระจายการลงทุนไปยังภาคเอกชนให้มากขึ้นด้วย” นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของแรงงานก็จะต้องมีการพัฒนาและเพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งมองว่าการเสริมทักษะด้านแรงงานถือเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต โดยตรงนี้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันรัฐบาลยังได้ออกมาตรการเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงาน ตรงนี้ก็จะมีส่วนในการช่วยเสริมทักษะให้แรงงานในประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' ถกหัวหน้าส่วนราชการ ลุยลงทุน 9.6 แสนล้าน กระตุ้นจีดีพีประเทศ
นายกฯ ถกหัวหน้าส่วนราชการฯ กำชับผลักดันเม็ดเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน สู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น ‘จีดีพี’ ประเทศ
'อิ๊งค์' คุย กกร. ชื่นมื่น! ปลื้มอวย 'พ่อนายกฯ' แก้เศรษฐกิจเก่งสุด
นายกฯ คุย ‘กกร.’ รับข้อเสนอแก้เศรษฐกิจ จับมือเอกชนหารายได้ใหม่เข้าประเทศ ด้าน ‘สนั่น’ เชื่อมั่นรัฐบาลอิ๊งค์ พร้อมช่วยดันจีดีพีโต ชมเปาะ 'ทักษิณ' เก่งสุด