'CIMBT' ชี้ 6 ปัจจัยเสี่ยงทุบศก.ปีหน้า คาดส่งออกเริ่มแผ่ว

“CIMBT” ชี้ปีหน้าจับตา 6 ปัจจัยเสี่ยงทุบตลาดเงินตลาดทุน-ภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมประเมินจีดีพีไทยปี 2565 โต 3.2% ส่วนปี 2566 โต 3.4% ระบุส่งออกเริ่มแผ่วยาวถึงกลางปีหน้า มอง “ธปท.” เดินหน้าขยับดอกเบี้ยแตะ 2% อัตราเงินเฟ้อไทยยังเสี่ยงยืนเหนือกรอบเป้าหมาย

7 ธ.ค. 2565 – นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ตลาดเงินตลาดทุนและภาพรวมเศรษฐกิจผ่านสิ่งเลวร้ายและความผันผวนมามาก แต่ปี 2566 ยังน่าห่วงกว่านี้ จากความเสี่ยงในปีนี้ที่อาจรุนแรงขึ้น ได้แก่ 1. ปัญหาการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อ จนกระทบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารสัตว์ ปุ๋ย รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ 2. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จนเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยแรงกว่าคาดจีนล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ต่อเนื่องตามมาตรการ Zero-Covid อาจจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตในประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบตามมาด้วยเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบจากจีน 4. วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปกระทบความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและกลับไปถือสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง 5. วิกฤติตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากปีนี้หลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ โดยประเทศเหล่านี้อาจเผชิญปัญหาสภาพคล่อง ต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ปัญหานี้ไม่น่ารุนแรงจนลามไปประเทศที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงและไม่มีปัญหาด้านความเชื่อมั่น และ 6. โควิดกลายพันธุ์

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คงการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 ที่ 3.2% และปี2566 ที่ 3.4% แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีเกินคาดในช่วงไตรมาส 3/2565แต่การฟื้นตัวหลักมาจากการเปิดเมืองและการเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มากขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ยังกระจุกตัวในกลุ่ม โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ขณะที่การใช้จ่ายในกลุ่มอื่น ๆ ยังขยายตัวไม่โดดเด่น อาจด้วยรายได้คนทั่วไปไม่ได้ปรับขึ้นมาก แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงจนคนระมัดระวังการใช้จ่าย

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็เป็นตัวสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งการสั่งซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบ รวมทั้งภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อเนื่องในปีนี้

“ภาพการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่ามาจากอุปสงค์ที่อัดอั้นมานานและพร้อมกระโจนใช้จ่าย หรือ pent-up demand ซึ่งมองต่อไปก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงได้ เราจึงคาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2565 จะขยายตัวได้ 3.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกน่าจะเริ่มชะลอลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง รวมทั้งการส่งออกของจีนมีแนวโน้มติดลบในปีหน้า ซึ่งโดยรวมจะกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่กลุ่มอาหารแปรรูปและสินค้าเกษตรน่าจะยังพอประคองตัวได้” นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว อาจเห็นบทบาทการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐลดลง โดยการใช้จ่ายภาครัฐอาจไม่ขยายตัวจากปีนี้ และน่าจะไม่สามารถคาดหวังโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้มากนัก ด้วยงบประมาณที่จำกัดและนำมาใช้ด้านสวัสดิการคนจนเป็นสำคัญ อีกทั้งหากรัฐบาลใช้เงินมากระตุ้นการใช้จ่ายมากเกินไปก็อาจทำให้อุปสงค์เร่งแรงกว่าการขยายตัวของอุปทาน ความไม่สมดุลนี้จะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง หรือการขาดความเชื่อมั่นในภาคการคลังในประเทศ ซึ่งรัฐน่าจะประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเน้นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในปีหน้า

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ทางสหรัฐกำลังอยู่ช่วงปลายทางของการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึงระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 1-2 ในปีหน้า ดังนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ช่วงกลางปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 2% ในช่วงกลางปีหน้า จากระดับ 1.25% ในปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงที่จะอยู่เหนือกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระดับบนที่3% ซึ่งทาง ธปท. ยังไม่น่าส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปีหน้าได้

อย่างไรก็ดี ในส่วนทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่ลดลง โดยคาดว่าเงินบาทจะทรงตัวที่ระดับ36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่ยังสูงในช่วงครึ่งแรกปีหน้า ประกอบกับการส่งออกที่ยังมีทิศทางไม่สดใสและรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ ซึ่งน่าจะยังทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงกลางปีหน้า และน่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีตามการฟื้นตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยมองเงินบาทที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี2566

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษกรัฐบาล ขอบคุณ 'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' ยอมรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต่อการให้สัมภาษณ์ของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนั้น รัฐบาลต้องขอบคุณมากที่ ผู้ว่าฯธปท.

นักวิชาการเตือนเปิดเสรีให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ต้องรอบคอบ อาจส่งผลเสีย

เปิดเสรีให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ถือครองคอนโดได้ 75% ต้องรอบคอบ ประเมินผลกระทบกรณี EEC ให้ต่างชาติเช่า 99 ปีมาศึกษาดู ต้องทำความเข้าใจ การบริหารจัดการนโยบายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในบริบททุนข้ามชาติโลกาภิวัตน์ให้ลึกซื้ง

'กุนซือนายกฯ' เขย่า 'แบงก์ชาติ' หัดร่วมมือรัฐบาลแก้เศรษฐกิจ

'พิชัย' ลั่นเตือนแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกย่ำแย่ ชี้นโยบายการเงินไม่สนับสนุน ขณะที่งบประมาณยังใช้ไม่ได้ จี้ 'แบงก์ชาติ' หนุนแก้เศรษฐกิจเหมือนธนาคารกลางประเทศอื่น

ไม่ไหวแล้ว 'เศรษฐา' จ่อเรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ หลังรู้จีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียน

“เศรษฐา” เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ 27 พ.ค.นี้ หลังจีดีพีไทยไตรมาสแรกโตต่ำสุดในอาเซียน