30 พ.ย. 2565 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาพรวม 10 เดือนของปีนี้ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.2% อยู่ที่ระดับ 99.06 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.06% ซึ่งปีนี้คาดว่าเอ็มพีไอจะขยายตัว 1.9% ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ส่วนอัตราการขยายตัว(จีดีพี) ของภาคอุตสาหกรรมปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สำหรับดัชนีเอ็มพีไอเดือนต.ค.2565 หดตัว 3.71% เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งจะกลับมาผลิตเป็นปกติอีกครั้งในเดือนพ.ย. โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือนต.ค.2565 ได้แก่ ยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพและรถยนต์นั่งขนาดกลาง ที่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากความต้องการสินค้ามากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน รวมถึงมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวตามการเติบโตของตลาดโลกยุคดิจิทัล
“เดือนพ.ย.2565 คาดว่าดัชนีเอ็มพีไอจะขยายตัวจากโรงกลั่นกลับมาดำเนินการตามปกติ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ แต่อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยลบจากตลาดส่งออกสำคัญมีแนวโน้มจะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ซึ่งเอ็มพีไอปีนี้ทั้งปีที่คาดว่าจะขยายตัว 1.9% มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ทิศทางราคาพลังงานทั้งภายในและต่างประเทศ ความผันผวนของราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันและย้ายฐานการผลิตทางเทคโนโลยีกระทบต่อการส่งออกของไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามสูตร! สุริยะให้ขึ้นทางด่วนฟรีเป็นของขวัญประชาชน
'สุริยะ' เล็งจัดแพ็กเกจทางด่วนฟรี-บริการเดินทางสาธารณะ เป็นขวัญปีใหม่ ปชช. รับยกเว้นภาษีน้ำมันเครื่องบินทำไม่ได้
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท