29 พ.ย. 2565- สำนักวิจัย Krungthai COMPASS ออกบทวิเคราะห์เรื่องสถานการณ์ส่งออก โดยระบุว่า ส่งออกเดือน ต.ค. ติดลบ 4.4%YoY หดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าขยายตัว 6% จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค่าที่ชะลอตัวโดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าทั้งอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรกลับมาหดตัว
การส่งออกกลับมาหดตัวสอดคล้องกับการส่งออกของภูมิภาคที่แผ่วลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก คาดว่าผู้ส่งออกอาจเผชิญแรงกกดดันจากทั้งด้านอุปสงค์ที่ชะลอลงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้ ต้องจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนที่อาจซ้ำเติมการส่งออกสินค้า โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนกลับมาเพิ่มสูงเกิน 3 หมื่นคนต่อวัน โดยทางการจีนได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่สำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัว
โดยมูลค่าส่งออกเดือน ต.ค. อยู่ที่ 21,772 ล้านดอลลาร์ฯ กลับมาหดตัว 4.4% อย่างไรก็ดีการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกขยายตัว 9.1% ส่วนการส่งออกทองคำเดือนนี้ขยายตัว 56.9% ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้กลับมาหดตัว 5.3%YoY
สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว 3.5%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 9.4%YoY โดยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำมัน (-22.8%YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง ขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กลับมาหดตัว (-27.4%YoY) ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (-13.1%YoY) จากราคาตลาดโลกที่ชะลอลงและอุปสงค์ที่แผ่วลงโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม สินค้าหลายชนิดยังขยายตัวได้ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+5.1%YoY) อัญมณีและเครื่องประดับ (+5.4%YoY) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+90.6%YoY) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+8.5%YoY) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+74.9%YoY) เป็นต้น
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว 3.4%YoY เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 1.8%YoY เป็นผลจากการหดตัวต่อเนื่องของการส่งออกยางพารา (-28.5%YoY) ผลไม้สดและผลไม้แห้ง (-34.9%YoY) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (-11.3%YoY) อย่างไรก็ตาม สินค้าหลายชนิดยังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะข้าว (+2.8%YoY) ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป (+38%YoY) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+26.3%YoY) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+0.9%YoY) อาหารสัตว์เลี้ยง (+4.8%YoY) เครื่องดื่ม (+20.3%YoY) เป็นต้น
เมื่อแยกการส่วออกเป็นรายประเทศ สหรัฐฯ : กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 29 เดือนที่ -0.9% จีน : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ -8.5% ญี่ปุ่น : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -3.1% EU27 : หดตัวในรอบ 6 เดือนที่ -9.8% ASEAN5 : กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน