“คลัง” โชว์ผลจัดเก็บรายได้เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 ทะยานแตะ 2.32 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 3.36 หมื่นล้านบาท เงินคงคลังเต็มปี๊บ 3.75 แสนล้านบาท “สรรพากร” ฟอร์มแจ่มจัดเก็บรายได้สุดปัง 1.35 แสนล้านบาท อานิสงส์เศรษฐกิจทยอยฟื้น หนุนรีดภาษีนิติบุคคล-มนุษย์เงินเดือนพุ่ง ด้าน “สรรพสามิต” อ่วมมาตรการลดภาษีดีเซลกดผลงานชะลอ
28 พ.ย. 2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้สุทธิเดือน ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 ว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 232,207 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 33,611 ล้านบาท หรือ 16.9% และสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 19.5%
ทั้งนี้ ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในเดือน ต.ค. 2565 ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมอยู่ที่ 188,542 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 10,581 ล้านบาท หรือ 5.9% และสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 22,838 ล้านบาท หรือ 13.8% โดยกรมสรรพากร สามารถจัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 135,256 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,717 ล้านบาท หรือ 6.9% และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 14,632 ล้านบาท หรือ 12.1% เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าประมาณการตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่ กรมสรรพสามิต สามารถจัดเก็บรายได้รวมในเดือน ต.ค. 2565 อยู่ที่ 36,316 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,306 ล้านบาท หรือ 14.8% และต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 827 ล้านบาท หรือ 2.2% เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราว จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ด้านกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 16,970 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,170ล้านบาท หรือ 92.8% และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 9,033 ล้านบาท หรือ 113%
สำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 นั้น พบว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 207,874 ล้านบาท เนื่องจากการนำส่งรายได้ของกรมสรรพากรสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบการมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเข้าเป็นรายได้แผ่นดินและมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 487,686 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวน 22,547 ล้านบาท หรือ 4.4% โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 473,438 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็น 4.1% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อน จำนวน 14,248 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว คิดเป็น 14.8% โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 50,394 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 375,693 ล้านบาท
โดยการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ งบรายจ่ายอื่นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 79,841 ล้านบาท งบรายจ่ายอื่นของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 69,570 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 42,256 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 38,736 ล้านบาท เงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 25,974 ล้านบาท เงินอุดหนุนของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 24,257 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 10,895 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุสรณ์' หนุนพนันถูกกฎหมายแต่ต้องระวังผลกระทบทางสังคม
ประเมินเศรษฐกิจนอกระบบของไทย ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การจัดการเศรษฐกิจนอกระบบและนอกกฎหมาย การพนันถูกกฎหมายเป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องป้องกันผลกระทบทางสังคมให้ดี