กทพ. ลุยศึกษาสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 “งามวงศ์วาน-พระราม 9” วงเงิน 3 หมื่นล้าน แก้ปัญหาวิกฤติรถติดปักหมุด มิ.ย. 66 ชงครม.อนุมัติ คาดเริ่มก่อสร้างปี 68 เปิดบริการปี 73
24 พ.ย. 2565 – นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการทางพิเศษ (ด่วน) ยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาทว่า ได้รับร้องเรียนจากประชาชนเข้ามามากว่า ทางด่วนไม่ด่วนจริง มีหลายจุดที่เกิดปัญหาจราจรสาหัสมาก โดยเฉพาะสามแยกนรก บริเวณช่วงทางแยกต่างระดับพญาไท ที่ด้านเหนือไปประชาชื่น และด้านใต้ไปบางโคล่ ซึ่งปัญหาเกิดจากทั้งความจุของทางด่วนไม่พอ, จุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วม และทางแยก, จราจรติดขัดบริเวณทางลงทางด่วน, การไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง และคอขวดทางกายภาพบนทางด่วน
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาดังกล่าว จะใช้วิธีจัดจราจรคงไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีแก้ทางกายภาพ จึงต้องสร้างทางด่วน 2 ชั้น เพื่อแยกเส้นทางรถให้ด้านเหนือที่จะไปประชาชื่น ขึ้นไปใช้ทางด่วนชั้นที่ 2 ส่วนด้านใต้ที่จะไปบางโคล่ให้ใช้ทางด่วนเดิมด้านล่าง เพื่อไม่ให้กระแสการจราจรตัดกัน อย่างไรก็ตามการสร้างทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 เป็นเรื่องที่ท้าทายทางวิศวกรรม เพราะต้องสร้างอยู่บนทางด่วนที่เปิดให้บริการตามปกติ โดยระหว่างก่อสร้างอาจมีสิ่งของตกลงมาได้ จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ต้องมีมาตรการรัดกุม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทางในระหว่างการก่อสร้าง
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทางด่วนของ กทพ. มีประมาณ 200 กิโลเมตร (กม.) สร้างทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 ที่บริเวณพระราม 4 และกำลังก่อสร้างในโครงกางทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง และเตรียมก่อสร้าง ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ซึ่งในการดำเนินการแต่ละโครงการย่อมมีประชาชนได้รับผลกระทบ และทัศนียภาพอาจจะเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการต่อไป นับเป็นการแสดงความมุ่งมั่นว่า กทพ. ใส่ใจต่อความรู้สึก และความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ตามสายทางทางด่วนอย่างเต็มที่
ด้าน นายวิรัช หิรัญ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 อยู่ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางด่วน ระยะที่ 1 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางด่วนศรีรัชช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤติทั้งใน และนอกช่วงเวลาเร่งด่วน สำหรับแนวเส้นทางฯ เริ่มต้นที่บริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นทางยกระดับซ้อนทับไปตามแนวสายทางของทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มุ่งทิศใต้ เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไทผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน และสิ้นสุดบริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 ของทางด่วนศรีรัช รวมระยะทาง17 กม. มีขนาด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง)
สำหรับด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง ได้แก่ ด่านประชาชนชื่น (ชั้นที่ 2) และด่านมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลง จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ทางขึ้นลงบริเวณย่านพหลโยธิน และทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสันมีเฉพาะทางลง อย่างไรก็ตามกทพ. จะใช้เวลาดำเนินการศึกษาประมาณ 450 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.2566 โดยพื้นที่ศึกษาครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นนทบุรี 1 อำเภอคือ อ.เมืองนนทบุรี และกรุงเทพฯ 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ, จตุจัตร
นายวิรัช กล่าวต่อว่า การรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลรายละเอียดเบื้องต้น และรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเดือน ม.ค.2566 กทพ. จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ เบื้องต้นสำหรับแผนการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางด่วน ระยะที่ 1 ประกอบด้วย ปี 2565-2567 (27 เดือน) ศึกษาความเหมาะสมฯ ออกแบบเบื้องต้น และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP), ปี 2566-2567 (12 เดือน) ขออนุมัติรายงาน EIA ปี 2566-2568 (17 เดือน) ขอใช้พื้นที่ ปี2568-2573 (60 เดือน) ก่อสร้างโครงการฯ และเปิดให้บริการในปี 2573.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.สามารถ' กางตัวเลขบอกรู้แล้วอึ้ง!ขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชเอกชนฟาดกำไรเท่าใด
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน แต่ค้านขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็เป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง
กทพ.ผุดทางด่วนริเวียร่า 'สมุทรสาคร-สมุทรปราการ' มูลค่าแสนล้าน
“กทพ.” กางแผนลุ้นปี 69-70 ศึกษาสร้าง “ทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ” วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท ยาว 71 กม. เล็งตอกเสาเข็มแบ่งเป็นเฟส รับแผนแม่บท MR-MAP เชื่อมมอเตอร์เวย์ หนุนระบบราง