'คลัง' อวดผลงานแก้หนี้ยก 2 ประชาชนเข้าร่วมคึกคัก

“คลัง” อวดผลการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ยก 2 มีจำนวนรายการที่ขอรับบริการมากกว่า 6 พันรายการ แห่ขอรับคำปรึกษาทางการเงิน-แนวทางประกอบอาชีพมากสุด พร้อมโหมโรงสัญจรแก้หนี้ ยก 3 ต่อ ปักหมุดบุกเชียงใหม่ 16-18 ธ.ค. 2565

22 พ.ย. 2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18 – 20 พ.ย. 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานกว่า 6,000 รายการ

โดยประกอบด้วยการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุดกว่า 2,000 รายการ สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนจากการที่ประชาชนสามารถพัฒนาอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้และมีทักษะในการบริหารจัดการด้านการเงิน รองลงมา คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมกว่า 1,500 รายการ การขอสินเชื่อเพิ่มเติมกว่า 1,000 รายการ และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิต การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น การขาย NPA ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น ประมาณ 1,500 รายการ

ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนทำได้ต่อเนื่องและครอบคลุมประชาชนในทุกพื้นที่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจึงมีแผนที่จะจัดงานครั้งต่อ ๆ ไป อีก 3 ครั้ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ดังนี้ ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 – 18 ธ.ค. 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่, ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี วันที่ 20 – 22 ม.ค. 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน และครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา วันที่ 27 – 29 ม.ค. 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นายพรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากการจัดงานมหกรรมสัญจรแล้ว กระทรวงการคลังและ ธปท.ยังจัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2565 โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 130,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 300,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 37% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18% ภาคกลาง 12% และภาคอื่น ๆ 33% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครติดและสินเชื่อส่วนบุคคล 77% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 7% และจำนำทะเบียนรถ 4%

สำหรับการลงทะเบียนเพื่อแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์นั้น ธปท. ได้เพิ่มความช่วยเหลือให้กับลูกหนี้ใน 2 เรื่อง คือ1. เพิ่มประเภทสินเชื่อที่เข้าร่วมงานมหกรรมออนไลน์ ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยเป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ค้างชำระตั้งแต่ 31 วันขึ้นไป ก่อนวันที่ 31 ต.ค. 2565 ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยเป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 31 วันขึ้นไป ก่อนวันที่ 31 ต.ค. 2565 เช่นกัน และ 2. ขยายระยะเวลาลงทะเบียนออนไลน์จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2566 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. นี้ เพื่อขยายโอกาสให้ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนมากขึ้นและสอดคล้องกับระยะเวลาในการจัดงานมหกรรมสัญจรในต่างจังหวัด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแนะทางแก้ 'ปลาหมอคางดำ' เชื่อแพร่พันธุ์ภาคอีสานยาก

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน

ชาวขอนแก่นเริ่มไม่เชื่อมั่นรัฐบาล แถลงดิจิทัลวอลเล็ตไม่ชัดเจน

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น ภายหลังจากรัฐบาล โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒ์ รมช.คลัง ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ผู้สมัคร สว.สอบตก ร้อง กกต.ค้านผลเลือกระดับจังหวัด ชี้พบผิดปกติอื้อ

ผู้สมัคร สว.จากหลายกลุ่มที่ไม่ผ่านการเลือกระดับจังหวัด เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อคัดค้านกรณีภายหลังจากทราบผลคะแนนการเลือก สว.ระดับจังหวัด