21 พ.ย. 2565 – การประชุมเศรษฐกิจระดับโลกทั้งสามเวทีในภูมิภาคที่เพิ่งจบไปคือ US-ASEAN Summit ที่กัมพูชา การประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย และการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ ตอกย้ำชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงสําคัญที่ได้เกิดขึ้นที่จะทําให้เศรษฐกิจการเมืองโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม โดยมีสามเรื่องที่จะมีผลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกจากนี้ไป
เรื่องแรก คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลกคือสหรัฐกับจีน เป็นความขัดแย้งที่มีจริง ลึกและค่อนข้างตึงเครียด เห็นได้จากท่าทีของสองประเทศนี้ในช่วงการประชุม ทำให้เศรษฐกิจโลกจะไม่กลมเกลียวหรือเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนเดิม และจากนี้ไปความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศนี้ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก
สอง ภูมิศาสตร์การเมืองจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสําคัญจากนี้ไป เห็นได้จากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่คงยืดเยื้อ ไม่จบง่าย เพราะทั้งสองฝ่ายรวมถึงผู้สนับสนุนไม่มีใครยอมใครและพร้อมจะยืดเยื้อ ทําให้สงครามจะลากยาวและสร้างดิสรัปชันต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเรื่องอาหารและพลังงานต่อไปอีกนาน เป็นดิสรัปชันที่ทําให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหารที่รุนแรงได้ในบางประเทศ ที่สำคัญสงครามที่ยืดเยื้ออาจเป็นเงื่อนไขให้เกิดพื้นที่เปราะบางมากขึ้นที่มีการใช้กําลังทางทหารเข้าสู้รบกัน ซึ่งจะสร้างดิสรัปชันและความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นไปอีก
สาม ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจและผลจากปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองจะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างสำคัญในสามมิติ หนึ่ง ปริมาณการค้าในเศรษฐกิจโลกจะลดลง จากดิสรัปชันและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น คือ ประเทศต่างๆ จะค้าขายระหว่างกันน้อยลง สอง การลงทุนระหว่างประเทศก็จะชะงักงันหรือลดลงจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่มีมากขึ้น สาม รูปแบบการค้าและการลงทุนในเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยน ไม่ใช่เสรีนิยมอย่างที่เคยมี แต่จะเป็นการค้าแบบแบ่งค่ายแบ่งขั้ว ประเทศในแต่ละขั้วจะค้าขายกันเอง ความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกจะหายไป เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจโลกที่จะค้าขายกันเป็นกลุ่มตามกลุ่มการค้าที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา ทั้งการรวมตัวตามภูมิภาคและการรวมตัวทางการเมือง นี่คือสิ่งที่กําลังเกิดขึ้น
ประเด็นหลังสุดนี้ทําให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าโลกาภิวัตน์คือการค้าและการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต เช่น ทุนและแรงงาน ข้ามพรมแดนอย่างเสรี ที่เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกช่วงสามสิบปีที่ผ่านมานั้น คงถึงจุดสิ้นสุดหรือหมดบทบาทลง คือจะไม่ใช่ไอเดียหลักของการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจโลกอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาโลกาภิวัตน์ให้ทั้งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก แต่ที่สำคัญ คือ ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศรวมถึงเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจมหภาคในเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปมาก และไม่เอื้อต่อบทบาทโลกาภิวัตน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกต่อไป กล่าวคือ
หนึ่ง ประโยชน์หลักของโลกาภิวัตน์คือเรื่องประสิทธิภาพ และผู้ที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์คือผู้ที่เป็นเจ้าของทุน ที่สามารถเสาะหาปัจจัยการผลิตในราคาถูกมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มและขายในตลาดโลกในราคาสูงสุดเพื่อทํากําไร และชัดเจนว่าผู้ที่ได้ประโยชน์มากสุดจากโลกาภิวัตน์ในช่วงที่ผ่านมาคือบรรษัทข้ามชาติที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนการเงินที่ถูก คืออัตราดอกเบี้ยตํ่าและค่าจ้างแรงงานในต่างประเทศที่ถูก สร้างรายได้มหาศาลให้กับตนเอง อีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ ประเทศอย่างจีนที่ที่ผ่านมาเป็นเหมือนโรงงานให้กับเศรษฐกิจโลกเพราะค่าจ้างแรงงานในจีนในช่วงแรกตํ่า มีบรรษัทข้ามชาติไปลงทุนเปิดโรงงานมาก สร้างงานและรายได้ให้กับจีนมาก
แต่สำหรับประเทศอื่นๆ ทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกําลังพัฒนา การเติบโตของเศรษฐกิจที่มาจากโลกาภิวัตน์ได้สร้างปัญหามาก โดยเฉพาะความเหลื่อมลํ้าที่มีมากขึ้นเพราะรายได้ที่เกิดจากโลกาภิวัตน์กระจุกอยู่ที่เจ้าของทุนคือบริษัทต่างๆ ไม่กระจายสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศ การไปตั้งโรงงานในต่างประเทศตามเหตุผลประสิทธิภาพที่มาจากโลกาภิวัตน์ทำให้คนในประเทศไม่ได้ประโยชน์ ไม่มีการจ้างงาน และความเป็นอยู่ลําบากขึ้น เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และการเปิดประเทศอย่างเสรี เช่นกรณี Brexit ที่อังกฤษ และเมื่อประชาชนไม่พอใจ ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง นักการเมืองแบบอำนาจนิยมก็เติบโตโดยใช้นโยบายประชานิยมเอาใจประชาชน
สำหรับประเทศกําลังพัฒนา นอกจากปัญหาความเหลื่อมลํ้าที่มีมากขึ้น โลกาภิวัตน์ก็สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากความผันผวนของเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าออก และความเป็นหนี้จากการกู้ยืมเงิน เช่น ศรีลังกา ทำให้โลกาภิวัตน์หมดเสน่ห์ กลายเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เป็นเรื่องที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย
สอง ความขัดแย้งในการเมืองโลก สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และดิสรัปชันต่อการผลิตจากกรณีโควิด-19 ชี้ชัดว่า เศรษฐกิจโลกเปราะบางมากจากความเป็นหนึ่งเดียว และโลกาภิวัตน์ไม่ใช่คำตอบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในภาวะที่ประเทศหลักๆ ขัดแย้งกัน เพราะประเด็นการเมืองกับเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกกันได้ในการทํานโยบาย ทําให้ความสัมพันธ์ทางการค้าจากนี้ไปจะไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองและความมั่นคงด้วย เห็นได้จากกรณีจีนที่ให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปัจจัยภายในประเทศ ขณะที่สหรัฐเน้นให้บริษัทธุรกิจสหรัฐลดความเสี่ยงโดยย้ายห่วงโซ่การผลิตกลับเข้าสหรัฐหรือไปประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐแทน รวมทั้งใช้เงินอุดหนุนให้ภาคธุรกิจลงทุนสร้างโรงงานในสหรัฐในสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ชัดเจนว่าประเด็นเรื่องความมั่นคงได้เปลี่ยนบริบทของการค้าโลกไปแล้ว
สาม โลกาภิวัตน์เติบโตในช่วงที่ปัจจัยการผลิตมีราคาถูก แม้จะกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ของโลก แต่ด้วยนโยบายเปิดประเทศให้สามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นทุน แรงงาน หรือวัตถุดิบ ซึ่งคือหัวใจของโลกาภิวัตน์ ผู้ผลิตจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก เราจึงเห็นโลกาภิวัตน์เติบโตมากเมื่อยี่สิบปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในยุคสามตํ่า คือ ราคานํ้ามันตํ่า ราคาแรงงานตํ่า และอัตราดอกเบี้ยตํ่า
ปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไป ราคานํ้ามันแพงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาพลังงาน ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่สามารถไปลงทุนได้เป็นเรื่องที่หายาก และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในการลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมที่เคยพึ่งพาการใช้แรงงาน ท้ายสุดอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกกําลังเป็นขาขึ้น สิ่งเหล่านี้ทําให้โจทย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจอยู่ที่การลดความเสี่ยงในภาวะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และมีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจและการเมืองโลกมาก ซึ่งคําตอบไม่ได้อยู่ที่การเปิดเสรีหรือโลกาภิวัตน์
คําถามต่อมาคือถ้าโลกาภิวัตน์จะหมดบทบาทหรือไม่ไปต่อ อะไรจะมาแทนที่ คำตอบในเรื่องนี้ขณะนี้มีสองแนว คือ Re กับ De
Re หมายถึง Re-globalization คือ ปรับโลกาภิวัตน์ให้อยู่ในรูปแบบที่จะลดผลเสียที่มากับโลกาภิวัตน์ให้มีน้อยลง เพื่อให้โลกาภิวัตน์ยังมีบทบาทอยู่ในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจโลก แต่มีการควบคุมมากขึ้นเพื่อให้โลกาภิวัตน์เป็นที่ยอมรับ เช่น ควบคุมความเป็นเสรีในการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตมากขึ้น ผ่านการออกระเบียบต่างๆ เช่น ควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ ดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะมากับการลงทุน เก็บภาษีผู้ที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์และใช้รายได้จากภาษีอุดหนุนผู้ที่เสียหายจากโลกาภิวัตน์ และให้ความสำคัญกับการจ้างงานในแง่ประโยชน์ที่คนในประเทศจะได้จากการเปิดเสรี เป็นต้น
ส่วนDe หมายถึง De-globalization คือ ยอมรับความเป็นจริงว่าเศรษฐกิจการเมืองโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่โลกยังต้องค้าขายและพึ่งพากันอยู่เพราะไม่มีใครจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ในโลก เน้นให้แต่ละประเทศพึ่งตนเองมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการสร้างการผลิตในประเทศด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศ ให้ความสำคัญกับการค้าขายในระดับภูมิภาครวมถึงการมีห่วงโซ่การผลิตสั้นๆ เฉพาะกับประเทศในภูมิภาคในสินค้าที่ทําได้ เน้นการมีส่วนร่วมในเขตการค้าเสรีในสินค้าที่เป็นมาตรฐานโลกที่ประเทศผลิตไม่ได้แต่จําเป็น เช่น เทคโนโลยี แนวคิดนี้จึงยอมรับว่าความเป็นโลกาภิวัตน์ของโลกต้องลดลง แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต้องมีต่อไป แต่จะอยู่ในรูปแบบใหม่ตามความจำเป็น.
เขียนให้คิด
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล