ทอท. ชงผลศึกษาเพิ่มเติมบริหาร 3 สนามบิน ทย. “อุดรฯ-บุรีรัมย์-กระบี่” ให้คมนาคม พ.ย.นี้ ก่อนเข้าครม.เสนอ. เคาะอีกรอบ คาดเข้าบริหารเต็มตัวกลางปี 66
17 พ.ย. 2565 -นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มเติมตามข้อคิดเห็นของกระทรวงการคลัง อาทิ การอุดหนุนรายได้ให้กรมท่าอากาศยาน(ทย.) ความคุ้มค่า และฐานะทางการเงิน ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เห็นชอบในหลักการให้ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบริหารจัดการท่าอากาศยานแทน ทย. จากเดิม 4 เป็น 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ พร้อมทั้งให้นำความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการ ทั้งนี้คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จ และเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน พ.ย.65 ก่อนนำกลับมาเสนอที่ประชุม ครม. ต่อไป
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า หาก ครม. เห็นชอบเรื่องดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต้องดำเนินการออกใบรับรองสนามบินสาธารณะให้กับ 3 สนามบินให้แล้วเสร็จ จากนั้นในระยะแรก ทอท. จะเข้าไปบริหารจัดการ 3 สนามบินคู่ขนานกับ ทย. โดยระหว่างนั้นต้องดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) และสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) ให้แล้วเสร็จ รวมถึงเรื่องบุคลากร ซึ่งจะไม่ใช่การโอนบุคลากร ทย. มา ทอท. โดยบุคลากรของ ทย. ที่จะมาอยู่ ทอท. ต้องลาออกก่อน และ ทอท. จะให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก ซึ่งจะมีเกณฑ์การพิจารณา อาทิ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน
“เมื่อดำเนินการทุกเรื่องตามขั้นตอนกฎหมายที่ถูกต้องแล้ว คาดว่าประมาณกลางปี 66 ทอท. จะสามารถเข้าไปบริหารจัดการทั้ง 3 สนามบินแบบเต็มตัวได้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามในส่วนของรายได้ที่ ทอท. จะชดเชยให้ ทย. หลังจาก ทอท.เข้าบริหาร 3 สนามบินนั้น โดยหลักการ ทย. ต้องมีเงินเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเท่าเดิมกับเมื่อครั้งที่ ทย. บริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานดังกล่าวอยู่ เพื่อนำไปใช้บริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทย. ทั้ง 26 แห่งที่เหลือต่อไป ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณาว่า ทอท. สามารถดำเนินการชดเชยเงินเข้ากองทุนฯ ให้ ทย. ได้หรือไม่ อย่างไร”นายนิตินัย กล่าว
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ทอท. ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง โดยยังคงกรอบวงเงินลงทุนเดิมเบื้องต้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร รวมทั้งติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก และจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอเคโอ) อย่างไรก็ตามระยะแรก ทอท. ไม่ได้คาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร หรือปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร แต่จะดำเนินการให้สนามบิน โดยเฉพาะสนามบินอุดรธานี และบุรีรัมย์ เป็นศูนย์กลางการบิน(ฮับ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรองรับการบินตรงเส้นทางบินระหว่างประเทศให้ได้ก่อน เพื่อดึงผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดิมต้องมาเปลี่ยนเที่ยวบินภายในประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สามารถมาลงที่ท่าอากาศยานอุดรธานี และบุรีรัมย์ได้เลย
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 หรือสนามบินพังงา และท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 หรือสนามบินลำพูนนั้น ก่อนหน้านี้ ทอท. ได้ทำการศึกษาแล้ว แต่เนื่องจากมีข้อสังเกตว่าควรว่าจ้างหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งในขณะนั้น ทอท. ได้เตรียมว่าจ้างศึกษา แต่เนื่องจากมีนโยบายเรื่องการให้ ทอท. บริหาร 3 สนามบิน ทย. ทางกระทรวงคมนาคมจึงให้รอผลการเข้าบริหาร 3 สนามบินของ ทย.ก่อน อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันการเดินทางของผู้โดยสารยังไม่กลับมาปกติเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จึงทำให้ขณะนี้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต ยังสามารถรองรับปริมาณการเดินทางเข้า-ออกของผู้โดยสารได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘สุวรรณภูมิ’ คว้ารางวัล Prix Versailles 2024 สนามบินสวยที่สุดในโลก
‘UNESCO’โหวตอาคารSAT-1 สนามบินสุวรรณภูมิรับรางวัล Prix Versailles สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร ในฐานะสนามบินสวยที่สุดในโลกประจำปี 2567
ระทึก! สาวโปแลนด์ ขู่บึ้มเครื่องบินกลางอากาศ ทสภ. งัดแผนเผชิญเหตุ
ศูนย์วิทยุสุวรรณภูมิภาคพื้นดิน รับแจ้งจากกัปตันเครื่องบิน เที่ยวบิน VZ 961 ของสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ มีผู้โดยสารขู่วางระเบิด ระหว่างบินบนอากาศ
'สนามบินสุวรรณภูมิ' ซ้อมแผนเผชิญเหตุกราดยิง
เมื่อเวลา 01.00 น. นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นประธานในจัดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ (Full Scale Exercise)
ท่องเที่ยวฟื้น 'ทอท.' กางแผนลุยสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านทิศใต้รับผู้โดยสาร 150 ล้านคน
อุตสาหกรรมการบินโตต่อเนื่อง ทอท.เปลี่ยนแผนแม่บทขยายขีดความสามารถสนามบินระยะ 10 ปีใหม่ ชะลอสร้างอาคารผู้โดยสารในประเทศ “North Expansion” กลับมาหยิบสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านทิศใต้ก่อน เหตุผู้โดยสารระหว่างประเทศพุ่งทะลัก เชื่อเป็นการแก้ปัญหาลดความแออัดในสนามบินสุวรรณภูมิ หวังรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี