“คลัง” ตีปี๊บเดินหน้ามหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข ครั้งที่ 2 ยกทัพสถาบันการเงินของรัฐบุกขอนแก่น ดีเดย์ 18-20 พ.ย. นี้ ต่อยอดความสำเร็จ ปูพรมแก้ไขหนี้เดิม สร้างรายได้ สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ประชาชน
16 พ.ย. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 – 20 พ.ย. 2565 จะมีการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. โดยความร่วมมือของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 18 หน่วยงาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบกับปัญหาหนี้สินเป็นภาระหนัก โดยมหกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน
ทั้งนี้ การจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออนไลน์ผ่านระบบของ ธปท. ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนออนไลน์จำนวนกว่า 135,000 ราย รายการสะสมมากกว่า 300,000 รายการ และระยะที่ 2 เป็นการจัดมหกรรมสัญจรทั้งในกรุงเทพมหานครและ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 – 6 พ.ย.2565 มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 15,000 ราย ส่วนใหญ่ขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ รองลงมา คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม การขอสินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องและสร้างรายได้เพิ่ม และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิต การขาย NPA เป็นต้น
“เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จของการจัดงานครั้งที่ 1 คลัง ธปท. และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จึงกำหนดจัดงานมหกรรมสัญจรในครั้งที่ 2 โดยจะเพิ่มเติมหน่วยงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรือการพัฒนาอาชีพ และมุ่งเน้นการให้คำปรึกษาด้านการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เข้าร่วมงานจากการจัดงานครั้งที่ผ่านมา” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า ในงานจะมีกิจกรรมประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือการปรับเงื่อนไขการชำระนี้ เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง 2. การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนได้ในระยะยาว และสามารถขอรับสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือเป็นแหล่งทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
และ 3. การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างความตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินและส่งเสริมการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงการเป็นหนี้และมีการวางแผนทางการเงิน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจตลอดงาน เช่น การตรวจข้อมูลเครดิตโดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การขายสินทรัพย์ NPA ของสถาบันการเงิน บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด รวมทั้งกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโดยผู้ทรงคุณวุฒิตลอดงาน
อย่างไรก็ดี ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่หน้างานมหกรรม ทั้งนี้ นอกจากงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ครั้งนี้แล้ว ยังมีกำหนดจัดมหกรรมในลักษณะเดียวกันอีก 3 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านช่องทางเดียวกัน ได้แก่ ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 – 18 ธ.ค. 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่, ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี วันที่ 20 – 22 ม.ค. 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน และครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา วันที่ 27 – 29 ม.ค. 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ได้นำมาตรการช่วยเหลือแก้หนี้และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีเงื่อนไขหรืออัตราดอกเบี้ยพิเศษไปให้บริการ ประกอบด้วย มาตรการแก้หนี้ ช่วยเหลือลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร ได้แก่ 1.มาตรการ 22 สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ผ่อนเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ 2 ปี เดือนที่ 1-10 ชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท ดอกเบี้ย 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) เป็นต้น
2.เติมเงิน เสริมสภาพคล่อง สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย MRR-3.40% (เท่ากับ 2.75%) ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.90% (เท่ากับ 3.25%) ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.40% (เท่ากับ 3.75%) ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 3.25% (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารปัจจุบันเท่ากับ 6.150% ต่อปี)
ผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 40 ปี ให้กู้เพื่อรีไฟแนนซ์บ้านหรือห้องชุด(คอนโดมิเนียม)จากสถาบันการเงินอื่นหรือกู้เพื่อต่อเติม ขยาย หรือซ่อมแซม เป็นต้น 3. ออมเงิน เงินฝากออมทรัพย์ New Freshy ให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดสูงสุดถึง 4.00% ต่อปี และ 4.เติมที่อยู่อาศัย บ้านมือสอง ธอส. 1,000 กว่ารายการทั่วประเทศ จำหน่ายพร้อมส่วนลดสูงสุด 50%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง
'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.
ส่องความน่ารักสัตว์นานาชนิด ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าขอนแก่น
ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 4 ขอนแก่น ชวนเที่ยวชมสัตว์น่ารักช่วงสุดสัปดาห์" พร้อมเปิดพื้นที่เรียนรู้สัตว์ป่าที่น่าสนใจ